'ดุสิตธานี' ดัน 3 กลยุทธ์ ปั๊มรายได้ รับมือปิดโรงแรม 4 ปี สูญ 4 พันล้าน

14 ม.ค. 2562 | 10:27 น.
'ดุสิตธานี' ชู 3 กลยุทธ์เพิ่มรายได้ รับมือปิดโรงแรมสูญร่วม 4 พันล้านบาท จ่อฟื้น 3 ห้องอาหาร ดัน F&B สร้างความจดจำ คู่ขนานพัฒนาโรงแรมให้เป็นแฟล็กชิพใหม่ เพิ่มพอร์ตโฟลิโอขึ้นเป็น 100 แห่ง ลงทุนในธุรกิจใหม่ ปั้นแบรนด์อาศัยปักธงแห่งแรกในย่างกุ้ง



041
การปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2562 เพื่อทุบสร้างใหม่ให้กลายเป็นมิกซ์ยูส มีทั้งโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่จะเป็นแฟล็กชิพใหม่, ศูนย์การค้า, อาคารสำนักงาน และอาคารที่พักอาศัยแบบเรสิเดนซ์ มูลค่าการลงทุนกว่า 3.67 หมื่นล้านบาท ภายใต้บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 60 : 40

อย่างไรก็ตาม การปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ไปร่วม 4 ปี แน่นอนว่าจะกระทบต่อรายได้ของดุสิตธานีที่จะหายไปร่วมกว่า 4 พันล้านบาท เนื่องจากโรงแรมแห่งนี้สร้างรายได้ให้กับทางดุสิตธานีคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของรายได้โรงแรมในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา ดุสิตธานีมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมกว่า 5,570 ล้านบาท

ดังนั้น รายได้ที่หายไปราว 1 พันล้านบาทต่อปี อาจเทียบไม่ได้กับการเติบโตของรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหลังโครงการแล้วเสร็จ แต่ดุสิตธานีก็ได้เตรียมแผนรับมือเชิงโครงสร้างไว้แล้ว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อรายได้รวมของบริษัทมากจนเกินไป


043

โดยแม้จะมีการปิดโรงแรมไปแล้ว แต่ก็มีแผนที่จะเตรียมเปิด 3 ร้านอาหารขึ้นชื่อของโรงแรม ไม่ว่าจะเป็น ห้องอาหารเบญจรงค์, ห้องอาหารเธียนดอง และดุสิตกูร์เมต์ ไปเปิดให้บริการอยู่แถวซอยศาลาแดง ภายในพื้นที่ด้านหลังติดโรงแรม ทั้งจะมีเมนูอาหารที่เป็นไฮไลต์ของห้องอาหารต่าง ๆ มารวมอยู่ด้วย คาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงกลางปีนี้ เพื่อให้สร้างรายได้ต่อไประหว่างการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่เกิดขึ้น

เนื่องจากที่ผ่านมา โรงแรมแห่งนี้มีรายได้จากอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) รวมถึงการจัดเลี้ยงสูงถึง 45% เมื่อเทียบกับรายได้จากห้องพัก 55% รวมทั้งการสร้างความจดจำในแบรนด์การให้บริการต่าง ๆ ของดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่มีความโดดเด่นมากว่า 49 ปี

ขณะที่ ธุรกิจซึ่งเคยตั้งอยู่ที่พื้นที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ อย่างโรงเรียนสอนการประกอบอาหารและขนมอบ "เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต" ที่ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ เลอ กอร์ดอง เบลอ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เปิดมานานกว่า 11 ปี ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ "เซ็น ทาวเวอร์" (เซ็นทรัลเวิลด์) ในวันที่ 14 ม.ค. นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงทุนไปกว่า 300 ล้านบาท ในการพัฒนาพื้นที่กว่า 3 พันตารางเมตร พร้อมการพัฒนาหลักสูตรใหม่ สามารถรองรับนักเรียนในหลักสูตรหลักของโรงเรียนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 600 คนต่อปี


MP10-3435-A

นอกจากนี้ ดุสิตยังมุ่งเป้าในการสร้างรายได้เพิ่ม ภายใต้การดำเนินการใน 3 กลยุทธ์ กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างสมดุลรายได้ โดยเพิ่มรายได้จากในประเทศและนอกประเทศ ทั้งการรับบริหารและลงทุนเอง

กลยุทธ์ที่ 2 การขยายการเติบโตของจำนวนโรงแรมในพอร์ตโฟลิโอเพิ่มมากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะขยายอย่างน้อย 3 เท่าตัวในอนาคต จากปัจจุบันที่มีโรงแรมในเครืออยู่ 29 แห่ง และอีก 50 แห่ง ที่จะเซ็นสัญญารับบริหาร ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการในอีก 3-4 ปีนี้ ทำให้มีโรงแรมในเครือกว่า 100 แห่ง

กลยุทธ์ที่ 3 การกระจายความเสี่ยง เพื่อขยายฐานรายได้จากธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้ง บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้เข้าลงทุนใน บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด หรือ NRIP ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปประเภทอาหารแห้งและเครื่องปรุงรสให้กับลูกค้า ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ โดยเข้าถือหุ้นสัดส่วน 24.9% มูลค่าการลงทุนกว่า 660 ล้านบาท และการลงทุนซื้อหุ้นทั้งหมดใน บริษัท LVM Holdings Pte Ltd. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ในกลุ่ม "อีลิธ เฮเวนส์" (Elite Havens) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจตลาดให้เช่าวิลล่าระดับบนในเอเชีย ด้วยมูลค่ารวม 495 ล้านบาท เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจการบริหารจัดการและให้เช่าวิลล่าระดับหรูแบบครบวงจร ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย ศรีลังกา มัลดีฟส์ ไทย


ASAI Yankin

รวมถึงการขยายแบรนด์ "อาศัย" ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมที่เจาะกลุ่มมิลเลนเนียล โดยจะเปิดตัวแห่งแรกที่ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ภายใต้ชื่อ "โรงแรมอาศัย ย่านขิ่น" ในปี 2563 ซึ่งเป็นการลงทุนของ บริษัท ริช มัณฑะเลย์ จำกัด และยังมีโรงแรมอีก 4 แห่ง ที่อยู่ระหว่างพัฒนา เช่น เซบู ประเทศฟิลิปปินส์ (รับบริหาร) และโรงแรมอาศัยในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการลงทุนของดุสิตเอง ราว 925 ล้านบาท แถวย่านสาทร ที่จะเปิดในอีก 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 10 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นด้วย


➣ แสวงหาโอกาสลงทุนใหม่

 

[caption id="attachment_373023" align="aligncenter" width="341"] ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ศุภจี สุธรรมพันธุ์[/caption]

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าวว่า จากนี้จะเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการเดินหน้าโครงการใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะทำให้โรงแรมดุสิตธานีแห่งใหม่เป็นแฟล็กชิพ โฮเต็ล หรือเป็นโรงแรมต้นแบบที่ดีที่สุดทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและคงเอกลักษณ์ของดุสิตธานีเดิม ไม่ว่าจะเป็น ยอดเสาสีทอง เปลือกอาคาร ต้นไม้ นํ้าตก ห้องอาหารเบญจรงค์ ห้องไลบรารี่ ล็อบบี้ และห้องไทยเฮอริเทจ สวีท

ที่ผ่านมา ก่อนปิดโรงแรม บริษัทได้จัดโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงแสวงหาโอกาสในการลงทุนใหม่ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ เน้นการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การขยายแบรนด์โรงแรมอาศัย เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลที่นิยมการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และใช้ชีวิตในสไตล์ใกล้ชิดกับชุมชนหรือท้องถิ่น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3435 ระหว่างวันที่ 13 - 16 มกราคม 2562

595959859