เกาะติดเลือกตั้ง : สูตรรัฐบาลหลังเลือกตั้ง พปชร.โอกาสสูงแกนนำ

10 ม.ค. 2562 | 13:09 น.
 

สูตร รัดนูน01 แม้จะยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งใหม่ออกมาอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะต้องรอประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งจากรัฐบาลก่อน แต่การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องมีขึ้นอย่างแน่นอนภายในเดือนมีนาคม 2562 นี้

ขณะที่แต่ละ “พรรคการเมือง” ก็ได้สตาร์ตหาเสียงกันไปแล้ว แถมยังออกมาประเมินเบื้องต้นกันว่าแต่ละพรรคจะได้จำนวนส.ส.กี่ที่นั่ง

พปชร.โอกาสสูงตั้งรัฐบาล ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สูตรการจัดตั้งรัฐบาล ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ไว้ 3 แนวทาง

ดร.สติธร ชี้ ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะได้จำนวนส.ส.มาก กว่า 100 เสียง หรือราว 130 เสียง เนื่องด้วยสถานการณ์ความพร้อมต่างๆ ทั้งสรรพกำลัง ผู้สมัครทั้งระบบเขตเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อ “ทรัพยากร” ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง จึงเชื่อว่า พปชร.คงจะเป็น 1 ใน 4 พรรค ที่ส่งผู้สมัครครบ 350 เขต

“ผมเคยประเมินที่นั่งของพลังประชารัฐไว้ประมาณ 130 เสียง โดยฐานอ้างอิงดูจากตัวบุคคลน่าจะชนะประมาณ 50  เขต อีก 300 เขต ที่แพ้ก็จะได้เขตละ 2 หมื่นคะแนน เฉลี่ยก็ประมาณ 6 ล้านคะแนน หาร 7 หมื่นก็จะตกประมาณ 80 ที่นั่ง รวมกันประมาณ 130 เสียง”

ถ้าประเมิน ณ ตอนนี้ ก่อนจะมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ก่อนเปิดหน้าเปิดตาผู้สมัครในแต่ละเขต ดูแล้ว พปชร.เป็นพรรคที่เข้มแข็งพอควร แต่คิดว่ายังไม่สามารถแซงหน้า “เพื่อไทย” จนกลายเป็นพรรคอันดับ 1 ได้

อุตตม-03 เมื่อทุกอย่างพร้อม “พลังประชารัฐ” จึงมีโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาล ดูจากกฎหมายและรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้พอสมควร ซึ่งชัดเจนว่าพลังประชารัฐกับรัฐบาลปัจจุบันเนื้อเดียวกัน

ที่สำคัญแนวทางสนับสนุนให้รัฐบาลปัจจุบันกลับมาสานงานต่อหลังเลือกตั้ง รวมทั้งส.ว.ก็มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าพลังประชารัฐระดมเสียงหรือชนะเลือกตั้งได้ส.ส.เกิน126 เสียง บวกกับส.ว.อีก 250 เสียง ก็มีโอกาสได้นายกฯ ของตนเอง พลังประชารัฐ มีโอกาสมากกว่าพรรคอื่น และมีความชอบธรรมในการเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

เมื่อได้นายกฯ ภายใต้การเสนอของพลังประชารัฐ ก็จะเชิญชวนพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล จะบอกว่าต้องให้พรรคอันดับ 1 ก่อน ไม่ใช่แล้ว เพราะเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลไม่เหมือนเดิม เดิมที่ใครรวมเสียงส.ส.ได้ 250 เสียงก่อน ก็จะได้เป็นรัฐบาลนั้นไม่ใช่เลยทีเดียว เพราะใครจะเป็นรัฐบาลต้องมาคุยกันหลังลงคะแนนเลือกนายกฯ แล้ว

และเงื่อนไขอีกอย่างที่สำคัญคือ ไม่ต้องมีพรรคอื่นสนับสนุนก็ได้ แต่ต้องเป็นพรรคที่มีเสียงอันดับ 2 ถ้าได้ 126 เสียง แต่แพ้ “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” แล้วได้ที่ 3 ก็ไม่ง่าย เพราะการเข้าที่ 2 และเกิน 126 เสียง เท่ากับว่ามีโอกาสดึงพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 3 เข้ามาร่วม วิธีนี้ยังพอมีความชอบธรรมอยู่ เพราะแม้จะอยู่อันดับ 2 แต่รวมพรรคอื่นได้ 126 เสียง

[caption id="attachment_372583" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

คาดสูตรรัฐบาล

ดร.สติธร วิเคราะห์ว่า พลังประชารัฐมีโอกาสเป็นรัฐบาล แต่เสถียรภาพรัฐบาล จะน้อย ถ้าลองนำคะแนนของพลังประชารัฐบวกกับประชาธิปัตย์ และพรรคขนาดกลางอาทิ ภูมิใจไทย (ภท.) ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ชาติพัฒนา (ชพน.) อาจจะเกิน 250 เสียง แต่จะเกินมาเพียง 10-15 เสียง วิธีนี้พลังประชารัฐจะกลายเป็นรัฐบาลที่เหนื่อยมาก และพลาดไม่ได้เลย จะถูกต่อรองภายในสูง พลังประชารัฐต้องสู้ด้วยการเอาขั้วการเมืองบางส่วนมาร่วมรัฐบาลให้ได้ เช่น พรรคเพื่อชาติ ที่มาแนวปรองดอง แต่ปัญหาคือ เพื่อชาติจะได้เสียงขนาดไหน

“พรรคที่ดูเป็นกอบเป็นกำหน่อยและจะมาร่วมรัฐบาลของพลังประชารัฐได้ อาจจะดึงบางส่วนของเพื่อไทยมา ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติคงดึงมา ร่วมรัฐบาลยาก ถ้ารัฐบาลเสียงประมาณ 260 เสียง และต้อง การเสถียรภาพ อาจกลายเป็นเพื่อไทย ประเด็นคือ เพื่อไทยคงมาไม่หมด หมายความว่า มีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยให้เข้าร่วมกับพลังประชารัฐ”

ขณะที่ พรรคประชาชาติ ของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็มีโอกาสร่วมรัฐบาลได้ เพราะด้วยเงื่อนไขพรรคที่พยายามเป็นตัวแทนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่รัฐบาลไหนก็ตามทั้ง 2 ขั้ว ถ้าได้เป็นรัฐบาลก็จะเอาประชาชาติมา แต่ก็มีแค่ 10-15 เสียง ตัวเลขก็ยังน้อยอยู่
อุตตม-02 พท.ฝ่ายค้าน-ร่วมรัฐบาล

ดร.สติธร กล่าวว่า เมื่อมีปัญหาเพื่อไทยมาร่วมรัฐบาลบางส่วน ก็ให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลไปอยู่พรรค “ไทยรักษาชาติ” หมายความว่า พรรคขั้วฝ่ายค้านจะมีไทยรักษาชาติเป็นพรรคหลัก แล้วยอมทิ้งเพื่อไทยไปเลย ถ้ายอมกลืนนํ้าลายแล้วมาร่วมรัฐบาล แปลว่า แบรนด์เพื่อไทยจะไม่ขลังอีกต่อไป แต่เพื่อให้การเมืองเดินต่อไปได้ บางทีอาจจะต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองทิ้ง ซึ่งฝ่ายค้านอาจจะมีไทยรักษาชาติ อนาตตใหม่ และเสรีรวมไทย แนวแข็งกร้าวก็จะมี 3 พรรคนี้

อีกสูตรหนึ่งคือ “แบบงูเห่า” คือหลังเลือกตั้งเพื่อไทยยกพรรคย้ายมาอยู่กับพลังประชารัฐ ผมไม่เชื่อว่า พลังประชารัฐจะได้ส.ส.เกิน 250 เสียง แล้วตั้งรัฐบาลได้โดยไม่เอาฝั่งเพื่อไทยมาเลย ตัวเลขที่จะได้ประเมินว่าราวๆ 260-270 เสียง เสถียรภาพรัฐบาลก็ไม่ค่อยมั่นคงนัก อย่างน้อยต้องมีมากกว่าครึ่ง 30-40 เสียง ถึงจะปลอดภัย เพราะถ้าปล่อยให้พรรคที่มีส.ส. 20 คนขู่จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล รัฐบาลอยู่ไม่ได้ คงเป็นไปไม่ได้

การเป็นรัฐบาลผสมจะต่อรองกันเยอะ อยู่กันได้ไม่ยาว ช่วงแรกๆ อาจพออยู่กันได้ โดยสถานการณ์บ้านเมืองอาจจะยอมถอยกันคนละก้าว ให้ราบรื่นไปก่อน แต่พอผ่านปีแรกปีที่ 2 ไป พรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มมี ความพร้อมมากขึ้น มีการสร้างเนื้อสร้างตัวในการเตรียมทรัพยากรเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งใหม่ อำนาจรัฐ อำนาจเงินใกล้เคียงกันมากขึ้น เขาก็อาจจะอยากเลือกตั้งใหม่

“ไม่ว่าพรรคไหนมาเป็นพรรคฝ่ายค้าน ต้องเขย่ารัฐบาลตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยธรรมชาติของพรรครัฐบาลผสม อยู่ได้ครบ 2 ปี ก็ถือว่าเก่งแล้ว ยกเว้นกรณีเป็นรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ หมายความว่าขั้วเพื่อไทยมาทั้งหมด ไม่มาบางส่วน แล้วเหลือไทยรักษาชาติ 40-50 เสียง หรืออนาคตใหม่ไม่เกิน 10 เสียง รวมกันเป็นฝ่ายค้าน 60-70 เสียง ขณะที่รัฐบาลมีกว่า 300 เสียง เรียกง่ายๆ เกือบเป็นรัฐบาลแห่งชาติ การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีไม่มีใครเอาเปรียบกันมากจนเกินไป อย่างนี้อาจจะปรองดองกันได้ยาวถึง 4 ปี แต่ถ้าไม่เอาเพื่อไทยมาเลย ปีเดียวได้เลือกใหม่แน่ เพราะเสียงปริ่มเกินไป”

| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3434 หน้า 14 ระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค.2562
เพิ่มเพื่อน 595959859