คปป. ไม่ต่ออายุเซฟการ์ด "เหล็กแผ่นรีดร้อน" หวั่น! ถูกคู่ค้าตอบโต้-ชดเชยเสียหาย

10 ม.ค. 2562 | 10:02 น.
คปป. มีมติไม่ต่ออายุการใช้มาตรการปกป้องสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน หลังพิจารณาแล้วไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมในประเทศ ชี้! หากใช้มาตรการอีกเป็นครั้งที่ 3 เสี่ยงถูกคู่ค้าขอเจรจาให้ชดเชย-ตอบโต้ทางการค้า

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมในหลายวาระ ได้แก่ การเพิ่มรายชื่อบริษัทที่นำเข้าสินค้าเหล็กเกรดพิเศษ เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการพิจารณาคำร้องขอของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเหล็กที่ได้ยื่นคำร้องขอ และให้เปิดการทบทวนเพื่อขยายเวลาในการใช้มาตรการปกป้อง (เซฟการ์ด) จากการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ได้ใช้มาตรการครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2556 - 26 ก.พ. 2559 และได้ต่ออายุครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2559 และจะครบอายุการใช้มาตรการวันที่ 26 ก.พ. 2562 นี้

 

[caption id="attachment_372743" align="aligncenter" width="503"] อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดุลย์ โชตินิสากรณ์[/caption]

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องดังกล่าวออกไปอีก เพราะมีผลการไต่สวนออกมาชัดเจนว่า ปริมาณการนำเข้าของสินค้าที่ถูกไต่สวนมีแนวโน้มลดลง ส่วนแบ่งตลาดสินค้านำเข้าลดลง ขณะที่ อุตสาหกรรมภายในประเทศมียอดขายและการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในปี 2560 และปี 2561 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ส่วนผลกระทบจากสินค้านำเข้า พบว่า มีผลการขาดทุนลดลง และในด้านการจ้างงาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

"จากเหตุผลข้างต้น คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศและข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบมา จึงมีมติไม่ให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องฯ อีก เพราะไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น"


เหล็กรีดร้อน

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาใช้มาตรการปกป้องฯ หากประเทศใดประเทศหนึ่งมีการใช้มาตรการและมีการต่ออายุมาตรการออกไปอีก ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการสามารถที่จะยื่นขอเจรจา เพื่อให้ชดเชยความเสียหาย ซึ่งกรณีของไทย หากมีการต่ออายุการใช้มาตรการ ประเทศคู่ค้าที่เห็นว่าได้รับผลกระทบ ก็จะยื่นขอเจรจาเพื่อให้ไทยชดเชยได้ เช่น การเพิ่มโควตานำเข้า หรืออื่น ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม แต่หากไทยไม่ชดเชย ก็อาจจะมีผลกระทบถึงขั้นที่คู่ค้าจะพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าได้ และมาตรการตอบโต้นี้อาจจะไม่ใช่กับอุตสาหกรรมเหล็ก แต่อาจจะดำเนินการกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การปรับขึ้นภาษีกับสินค้าส่งออกอื่น ๆ ของไทย เป็นต้น ทำให้อุตสาหกรรมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมและไม่สามารถเยียวยาได้

"ขั้นตอนต่อไป กรมจะส่งรายละเอียดข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เป็นสาระสำคัญในการพิจารณาไม่ต่ออายุการใช้มาตรการข้างต้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 29 มกราคมต่อไป"

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว