ความต้องการใช้ยางพาราในจีนยังโตต่อเนื่อง?

11 มี.ค. 2559 | 06:28 น.
Event :China United Rubber Corporation (CURC) องค์กรรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2016-2020 ปริมาณการบริโภคยางในจีนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 6% เป็นผลจากการขยายตัวของจำนวนรถยนต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น ที่ได้รับปัจจัยหนุนของคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง โดยเป็นข้อมูลจาก Ma Junhua CEO ซึ่งกล่าวขึ้นในงาน Global Rubber Research Fair 2016 (GRRF2016) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2016 โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับยอดขายยางรถยนต์ในช่วง 2 เดือนแรกของจีนมีการปรับตัวสูงขึ้นราว 8%

Analysis :อีไอซีมองว่าปริมาณการบริโภคยางในจีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตในระยะสั้น เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนรถยนต์ใหม่ของจีนในปัจจุบัน เกิดจากนโยบายลดภาษีของรัฐบาลจีนที่จะจบลงในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของปริมาณการบริโภคยางในประเทศด้วยเช่นกัน สังเกตจากยอดขายรถยนต์ของจีนที่ลดลงติดต่อกัน 3 เดือนก่อนที่จะมีการประกาศนโยบายลดภาษีฯ อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการขยายตัวของจำนวนรถยนต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นของจีน ยังถือเป็นสัญญาณบวกที่ดีต่อปริมาณการส่งออกยางพาราของไทยไปจีนในปีนี้ (ราว 50% ของมูลค่าการส่งออกยางพาราทั้งหมดของไทย)

:มูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะหดตัวจากราคาที่ลดลง แม้ว่าปริมาณการนำเข้ายางพาราของจีนจากไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในปีนี้ แต่ปัจจัยด้านราคากลับมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากภาวะอุปทานส่วนเกิน (oversupply) ของยางพาราในตลาดโลกที่ยังมีอยู่ ประกอบกับ ปัจจัยกดดันของราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับต่ำในปีนี้ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบมีความเป็นไปได้ว่าจะค่อยๆ ปรับระดับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากการเริ่มเข้าสู่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคายางพาราไทยเริ่มมีการขยับตัวสูงขึ้นตามด้วยเช่นกัน

Implication : อีไอซีแนะผู้ผลิตยางพาราควรเพิ่มฐานลูกค้าในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้ หากไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลายน้ำมากขึ้น ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ปริมาณการบริโภคยางพาราในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

: นอกจากนี้ ควรมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้แก่ ถุงมือผ่าตัด ถุงยางอนามัย ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ที่มา:ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Economic Intelligence Center)