'แหลมฉบัง' ฮับอีวีโลก! กนอ. ตั้งเขตส่งเสริมพิเศษดึงลงทุน 7.2 หมื่นล้าน

10 ม.ค. 2562 | 05:24 น.
100162-1213

กนอ. ชงนิคมฯแหลมฉบัง 3.5 พันไร่ เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ หวังได้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.อีอีซี จูงใจรายเดิม 145 ราย ขยายกิจการ ผลสำรวจชี้ชัด! แห่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ป้อน เม็ดเงินกว่า 7.2 หมื่นล้าน ขึ้นชั้นศูนย์กลางผลิตรถอีวีโลก

พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เนื้อที่ราว 3,556 ไร่ ในการกำกับของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังจะถูกยกระดับเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่นิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ มีสัดส่วนการลงทุนถึง 41.66% จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งสิ้น 145 ราย

 

[caption id="attachment_372628" align="aligncenter" width="503"] ©TayebMEZAHDIA ©TayebMEZAHDIA[/caption]

กนอ. ชงตั้งเขตส่งเสริมฯ

ล่าสุด ทาง กนอ. ได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งนิคมฯแหลมฉบังเป็นเขตส่งเสริมพิเศษฯ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่คาดว่าจะนำเสนอและประกาศจัดตั้งได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อที่จะให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไข พ.ร.บ.อีอีซี และของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่

ในจำนวนเนื้อที่นิคมฯ 3,556 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับขายและให้เช่า มีประมาณ 2,803 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียวและสาธารณูปโภค ซึ่งปัจจุบันไม่มีพื้นที่คงเหลือสำหรับขายหรือให้เช่าแล้ว โดยคาดว่า ในจำนวนผู้ประกอบการดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 1,745 ไร่ โดยเฉพาะโรงงานที่ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ มีสัดส่วน 21.66% และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วน 20% จะหันไปลงทุนในเครื่องจักรให้สอดรับกับกำลังการผลิตที่ทันสมัย หรือ รองรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว โดยประมาณการว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ราว 72,517 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ประมาณ 22,260 ล้านบาท หากสามารถดำเนินงานได้ตามแผน เท่ากับว่า นิคมฯแห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญที่จะรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ

 

[caption id="attachment_372629" align="aligncenter" width="503"] ©TayebMEZAHDIA ©TayebMEZAHDIA[/caption]

รอเสนอบอร์ดอีอีซีพิจารณา

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ขณะนี้ สกพอ. อยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียดการจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษของนิคมฯแหลมฉบัง ที่คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กพอ. ได้ในไม่ช้านี้ ซึ่งในผลการศึกษาของ กนอ. ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่นี้มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาต่อยอดการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะเป็นฐานการผลิตเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว หากได้รับสิทธิประโยชน์จากการเป็นเขตส่งเสริมพิเศษจะทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจลงทุนในพื้นที่เดิมต่อไป ไม่ย้ายถิ่นฐานการลงทุนไปยังพื้นที่อื่น ๆ และทำให้นิคมฯแหลมฉบังสามารถรักษาจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมให้ต่อยอดการลงทุนต่อไปได้


ผลสำรวจชี้ชัดต่อยอดไปอีวี

แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การขอยกระดับนิคมฯแหลมฉบังเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่นี้ เกิดแรงจูงใจที่จะยายการลงทุนเพิ่มเติม หรือ ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในนิคมฯแหลมฉบัง จำนวน 37 บริษัท ในส่วนใหญ่ประกอบกิจการประเภทอุปกรณ์ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสิ้น 20 โรงงาน หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของทั้งหมด และเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 500 ล้านบาท มีระยะเวลาในการประกอบกิจการมากกว่า 15 ปี

 

[caption id="attachment_372630" align="aligncenter" width="503"] ©OpenClipart-Vectors ©OpenClipart-Vectors[/caption]

โดยพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เกือบ 90% มีแนวโน้มที่จะขยายกิจการไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ ปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัย รองรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นและจะใช้เวลาในการขยายกิจการนับจากนี้ไปไม่เกิน 5 ปี เนื่องจากเห็นว่า สิทธิประโยชน์จากการประกาศเป็นเขตส่งเสริมจูงใจให้เกิดการขยายกิจการเพิ่มขึ้น

โรงานผลิตรถ-100162-1211
ดันแหลมฉบังเป็นฮับรถไฟฟ้า

ดังนั้น จากการวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้ประกอบการดังกล่าว ทำให้ กนอ. คาดการณ์ว่าจะมีผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมฯแหลมฉบัง ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ จะมีการลงทุนพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ บนเนื้อที่ราว 1,465 ไร่ หรือคิดเป็นเงินลงทุนราว 72,517 ล้านบาท และพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ บนเนื้อที่ 280 ไร่ หรือคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 22,260 ล้านบาท หรือรวมเป็นเงินลงทุนกว่า 9.47 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลาง หรือ มีบทบาทในการกำหนดทิศทางในการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนและรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศในอนาคตได้

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย)ฯ, บริษัท ไทยซัมมิท มิทซูบะ อีเล็คทริค แมนูแฟ็คเจอริ่งฯ, บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง โอโตพาร์ทฯ, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเคฯ, บริษัท ซัมมิทแหลมฉบังโอโตบอดีเวิร์คฯ, บริษัท คานาเอคซ์ (ประเทศไทย)ฯ และบริษัท ซัมมิท คูราตะ แมนูแฟคเจอริ่งฯ, บริษัท ออโต้ อินทีเรียร์ โปรดักส์ฯ, บริษัท นาคากาวา ซังเกียว (ไทยแลนด์)ฯ เป็นต้น


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,433 วันที่ 6 - 9 ม.ค. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ประมูล "แหลมฉบัง 3" เดือด! 'ฮัทชิสัน' มาแรงประสบการณ์บริหาร 6 ท่าเรือ
ยอดขาย 'อีวี' นอร์เวย์พุ่งครองแชร์ 31% "ดีเซล-ไฮบริด" ร่วง


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน