ทางออกนอกตำรา : 5 ปี ลุงตู่ใช้งบ 17 ล้านล้าน เงินไปลงตรงไหน...!

09 ม.ค. 2562 | 13:15 น.
หว่าน 4DQpjUtzLUwmJZZPEbTBr0WDKomOlBYdhqmESj8qNHpA เรื่องใหญ่ที่คนไทยต้องรู้และร่วมกันติดตามในขณะนี้ นอกเหนือจากการ “เลือกตั้ง-เลื่อนเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการเข้าสู่อำนาจ และการได้มีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศของบรรดานักเลือกตั้งแล้ว มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากชวนทุกคนมาเกาะติดและพิจารณาดู

นั่นคือการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 450,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2562

การจัดงบประมาณดังกล่าว มีการประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิที่ 2.75 ล้านล้านบาท ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.2% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)

การจัดทำงบประมาณทั้งหมดของรัฐบาลอยู่ภายใต้สมมุติฐานว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวในอัตรา 3.5-4.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.8-1.8%

ถ้าพิจารณาจากการจัดทำงบประมาณดังกล่าว ต้องบอกว่าปีนี้ “ฝนฟ้างบประมาณ”มาเร็วกว่ากำหนด เป็น “งบประมาณหลงฤดู”ก็ว่าได้ เพราะเปิดศักราชปีกุนหมูปุ๊บ รัฐบาลนายกฯ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คิกออฟทำคลอดทันที ขณะที่ปกติกว่าจะมีการตั้งเรื่องจัดทำงบประมาณประจำปีกันก็ต้องเลยเถิดมาถึงเดือนมีนาคมโน่น

แต่ปีนี้เปิดปุ๊บตั้งงบปั๊บ รัฐบาลต่อไปมาใช้ตามกรอบนี้....
ตู่-0001 วันที่ 4 มกราคม 2562 “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะ มีขุนพลซ้ายขวา “วิษณุ เครืองาม-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ประชุมวางกรอบงบประมาณปี 2563 ทันที

8 มกราคม 2562 ครม.ก็มีมติเห็นชอบปุ๊บ กับการจัดทำงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาจากปี 2562 ร่วม 2.2 แสนล้านบาท รายจ่ายรวม 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท เท่ากับปี 2562

ใครอาจจะมองว่าสูง แต่กรอบดังกล่าวยังอยู่ในกรอบวินัย การคลัง เป็นไปตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ มาตรา 21 ที่กำหนดว่า การทำงบประมาณขาดดุลในวงเงินไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย รวมกับ 80% ของงบชำระคืนเงินกู้ ซึ่งถ้ารวมกันแล้วเพดานที่ทำงบประมาณขาดดุลได้ถึง 7.1 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันยังจัดทำงบในส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนด้วย

กรอบทั้งหมดนี้สำนักงบประมาณจะต้องไปจัดการให้ส่วนราชการจัดทำรายละเอียดโครงการที่ของบประมาณตามมาอีกรอบ

งบปี 2563 สะท้อนออกมาว่ารัฐบาลจะยังเดินหน้าในการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเต็มสูบ และน่าจะเป็นรัฐบาลแรกในรอบหลายสิบปีที่มีการตั้งงบขาดดุลสูงขนาดนี้ และมีงบลงทุนที่สูงลิ่วมาตลอด 5 ปีที่จัดสรรงบประมาณลงไป

[caption id="attachment_372206" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

หากย้อนกลับไปดูนับแต่รัฐบาล คสช. เริ่มจัดทำงบประมาณประจำปีมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 พบว่า ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายรวมเบ็ดเสร็จแล้วทั้งสิ้น 17 ล้านล้านบาทเศษ เป็นงบขาดดุลรวม 2.41 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีการตั้งงบเพิ่มเติม หรืองบกลางปีมาแล้วถึง 3 ครั้ง รวม 3.9-4 แสนล้านบาท

ปีงบประมาณ 2558 ที่รัฐบาล คสช. เริ่มทำงบเป็นปีแรกนั้น มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ 2,575,000 ล้านบาท

กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงสุด 501,326.1 ล้านบาท คิดเป็น 19.5% ของงบรายจ่ายทั้งหมด

รองลงมา เป็นรายการงบกลาง 375,708.1 ล้านบาท สัดส่วน 14.6% งบก้อนนี้เป็นงบพิเศษที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรลงไปตามความจำเป็นเร่งด่วน กระทรวงมหาดไทย 340,171.6 ล้านบาท สัดส่วน 13.2% กระทรวงกลาโหม 192,949.1 ล้านบาท สัดส่วน 7.5%  กระทรวงการคลัง 185,852.2 ล้านบาท สัดส่วน 7.2%

ปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ 2,720,000 ล้านบาท ต่อมาภายหลังได้มีการจัดทำงบกลางปีเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 56,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบรายจ่ายปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 2,776,000 ล้านบาท

ในจำนวนนนี้งบทั้งหมดถูกจัดสรรลงไปในงบกลางที่เป็นอำนาจอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีในสัดส่วน 16.4% หรือ 455,382 ล้านบาท จากเดิมที่ทำงบกลางปีที่ไว้แค่ 422,721 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2560 ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ 2,733,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น รัฐบาลตั้งงบกลางปีเพิ่มเติมอีก 190,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2,923,000 ล้านบาท

งบกลางปีที่จัดสรรมาเพิ่มเติมถูกถมไปที่งบกลางที่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ ทำให้งบกลางมีสัดส่วนถึง 15.4% หรือจำนวน 448,880 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 406,016 ล้านบาท

เมื่อพิจารณารายละเอียดของงบกลางปีพบว่า รัฐบาลพยายามกระจายงบลงไปในระดับท้องถิ่น ผ่านจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเป็น 82,671 ล้านบาท สัดส่วน 2.8% จากเดิมได้รับจัดสรรแค่ 26,432.7 ล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรเพิ่มเป็น 94,417 ล้านบาท จากเดิม 88,267.4 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคม เป็น 157,389.9 ล้านบาท จากเดิม 150,750 ล้านบาท

จัดสรรลงไปให้กองทุนและเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเป็น 183,985 ล้านบาท จากเดิม 138,985 ล้านบาท เนื่องจากมีการเติมเงินลงไปให้แก่กองทุนหมู่บ้านฯอีกหมู่บ้านละ 500,000 บาท จำกันได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีการใช้เงินจ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้ตํ่ากว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินคนละ 3,000 บาท ผู้มีรายได้ต่ำมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินคนละ 1,500 บาท เป็นการคิกออฟโครงการสวัสดิการประชารัฐในการดูแลคนจน ที่เป็นล็อตโปรเจ็กต์ของรัฐบาลุงตู่
ตู่-0002 ปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลตั้งงบรายจ่ายประจำไว้ที่ 2,900,000 ล้านบาท แต่ก็มาตั้งงบกลางปีเพิ่มเติมอีก 150,000 ล้านบาท งบกลางปีเพิ่มเติมรอบนี้ถูกแบ่งออกไปใช้ 3 ส่วน ส่วนแรกใช้สำหรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (สวัสดิการคนจน เฟส 2) จำนวน 35,000 ล้านบาท ตอกหมุดเติมเงินลงไปในรัฐสวัสดิการที่ลุงตู่ไม่นิยมประชานิยม แต่นิยมประชารัฐ

ส่วนที่ 2 จัดสรรลงไปใช้ผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ในระดับตำบล และ กองทุนหมู่บ้านฯ เน้นให้ทำโครงการที่เป็นการปฏิรูปประเทศ จำนวน 35,358.1 ล้านบาท

ส่วนที่ 3 ใช้ปฏิรูปภาคการเกษตร มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตอีก 30,000 ล้านบาท

พอถึงปีงบประมาณ 2562 จัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีรวม 3 ล้านล้านบาท เป็นงบรายจ่ายประจำ 2.261 ล้านล้านบาท งบลงทุน 660,291 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 78,205 ล้านบาท ประมาณการรายได้อยู่ที่ 2.55 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 450,000 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) จะอยู่ที่ 17.573 ล้านล้านบาท

หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือ กระทรวงศึกษาธิการ 489,798 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 373,519 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 242,846 ล้านบาท และงบกลาง 468,032 ล้านบาท ใช้เป็นงบสำรองฉุกเฉิน

|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
|โดย : บากบั่น บุญเลิศ
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3434 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค.2562
เพิ่มเพื่อน 595959859