ดีเดย์ 7-31 ม.ค. เปิดลงทะเบียนร่วมมาตรการ "คืนแวต 5%"

09 ม.ค. 2562 | 09:59 น.
คลังเปิดลงทะเบียน 7-31 ม.ค. เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการและนำส่งข้อมูลแวตผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่าง 1-15 ก.พ. เพื่อคืนแวต 5%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการและนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเว็บไซต์ www.epayment.go.th ตั้งแต่วันที่ 7-31 ม.ค. นี้ เพื่อจะสามารถเริ่มซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่รวมสินค้าภาษีสรรพสามิต 5 ประเภท คือ สุรา ยาสูบ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน รถยนต์ และรถจักยานยนต์ ช่วงวันที่ 1–15 ก.พ. 2562 กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ที่สามารถแยกจำนวนแวต 7% ออกจากราคาสินค้าและบริการได้


S__179937288

ทั้งนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ 5% สูงสุดไม่เกินคนละ 1,000 บาท หรือเท่ากับซื้อสินค้าและบริการ 21,400 บาท โดยจ่ายเข้าระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชน และผู้ลงทะเบียน 1 คน มี 1 สิทธิ์ต่อ 1 เลขที่บัญชีที่แจ้งในการลงทะเบียนไว้

สำหรับเงื่อนไขที่ประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการฯ จะต้องเป็นประชาชนผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือเกิดก่อนวันที่ 1 ก.พ. 2547 เป็นผู้ถือบัตรเดบิตของธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการ คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารทิสโก้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารไอซีบีซี และธนาคารออมสิน หรือมีระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการฯ เช่น QR Code ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละธนาคาร

โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องสมัครใช้บริการพร้อมเพย์ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนผูกกับบัญชีธนาคารใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบัญชีธนาคารเดียวกับที่นำมาลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชย โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชน ภายในเดือน พ.ย. 2562

ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าต้องเป็นผู้ประกอบการร้านค้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีระบบ POS ที่ช่วยเก็บบันทึกการขาย รายละเอียดสินค้า คำนวณยอดขาย และพิมพ์ใบกำกับภาษี โดยเชื่อมต่อกับเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าที่มีระบบ POS ต้องทำการปรับปรุงและทดสอบ เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่นเดียวกับระบบที่ใช้ภายใต้มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ชำระ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว