‘สุดารัตน์-ชัชชาติ-จาตุรนต์’ ว่าที่นายกฯ เครือข่าย‘ทักษิณ’

09 ม.ค. 2562 | 06:25 น.
 

123338415 เริ่มเห็นเค้าโครงการปรับกลยุทธ์รับมือเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในต้นปี 2562 นี้ ของพรรคเพื่อไทย (พท.) บ้างแล้ว หลังจากที่มีกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 จากเดิมวางตัว “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”  ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เป็นชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”  ผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

ด้วยเหตุผลมีการสำรวจความนิยมล่าสุดของพรรคในช่วงหาเสียงพบว่า หาก “คุณหญิงสุดารัตน์” เป็นนายกฯ จะได้ส.ส.ราว 199-200 คน แต่ถ้าเสนอ ชัชชาติ เป็นนายกฯ จะทำให้ได้ส.ส.ราว 220 คน

ข้อมูลที่ปล่อยออกมา สอดคล้องกับเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “กรุงเทพ กรุงเทพ” ที่โพสต์ข้อความและภาพในช็อตที่ถ่ายภาพกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขณะที่ “ชัชชาติ” นั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคม ใช้ประโยคชวนติดตามว่า “กระแสความต้องการของประชาชน”
เทียบ01
พร้อมทิ้งท้ายในเพจดังกล่าวว่า “ที่ผ่านมานายชัชชาติ เหมาะที่สุดแล้ว ที่ได้ทำงานสายตรงกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ขยันทำงานทั้งคู่ ไม่ชอบต่อปากต่อคำกับใคร ลุยงานอย่างเดียวมีทัศนคติ วิสัยทัศน์ก้าวไกล ไม่ชอบเรื่องไร้สาระ นายกฯยิ่งลักษณ์ จึงไว้ใจ นายชัชชาติ อย่างมาก”

ที่สำคัญ “คุณหญิงสุดารัตน์” ออกมายอมรับว่า เรื่อง การวางตัว “ชัชชาติ” ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่กระแสข่าว แต่เป็นเรื่องที่ที่ประชุมพรรคมีการพูดคุยกันภายในพรรค และตนเองก็จับมือทำงานร่วมกันกับนายชัชชาติ มาโดยตลอด โดยจะทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ลองมาดูว่าทำไมชื่อของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ถึงติดโผว่า ที่นายกฯ ของพรรคเพื่อไทยในโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เดิมที ชัชชาติ เข้ามาช่วยงานในกระทรวงคมนาคม ยุค “พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” เป็น รมว.คมนาคม ต่อมาชัชชาติ ได้รับคำเชิญจาก “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ให้ช่วยดูแลกระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้ากระทรวง

หลัง “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ถูกรัฐประหาร ชัชชาติ หันกลับไปทำธุรกิจ ด้วยการไปนั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ก่อนที่จะลาออก และเข้ามาทำหน้าที่ดูแลด้านนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เป็นการรีเทิร์นการเมืองเต็มตัวอีกครั้ง

“ชัชชาติ” ได้ชื่อว่า เป็นขวัญใจชาวเน็ตไม่แพ้คนรุ่นใหม่ ในปี 2557 มียอดแฟนเพจสูงถึง 5 แสนคน เขาใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และมักจะมีช็อต เด็ดออกมาอวดแฟนเพจเสมอ

ล่าสุดชัชชาติโพสต์เฟซบุ๊ก เป็นภาพทีม “ดิ อเวนเจอร์” มาเพื่อปกป้องโลก เรียกความสนใจและสร้างความฮือฮาไม่แพ้หลายครั้งที่ผ่านมา

[caption id="attachment_372206" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ ประสบการณ์ในทางการเมืองเรียกว่าโชกโชนไม่แพ้ใคร เพราะหลังได้รับเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ วันที่ 22 มีนาคม 2535 ได้เป็นส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.)พรรคพลังธรรม หลัง พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม วางมือทางการเมือง คุณหญิงสุดารัตน์ ได้ร่วมเป็น 1 ใน 23 นักการเมือง ตั้งพรรคไทยรักไทย โดยมี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นหัวหน้าพรรค เคยเป็นรองโฆษกรัฐบาล และมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีหลายสมัย อาทิ รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.สาธารณสุข, รมช.มหาดไทย และรมช.คมนาคม

ต่อมาในปี 2550 คุณหญิงสุดารัตน์ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง ปี 2549 ช่วงเว้นวรรคทางการเมือง คุณหญิงสุดารัตน์ รับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล

นอกจากคุณหญิงสุดารัตน์ และ ชัชชาติ ที่คาดว่าเป็นชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในใจของ “นายใหญ่ทักษิณ” แล้ว ยังมีชื่อของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แต่ต้องโบกมือลาพรรคเพื่อไทย พร้อมกับแกนนำพรรคหลายคน ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พรรคที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นยุทธศาสตร์ของ “ทักษิณ” ในการ “แตกแบงก์พัน” ปัจจุบัน จาตุรนต์เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค ไทยรักษาชาติ
อ๋อย “จาตุรนต์” ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพรรคไทยรักไทย เพราะภายหลังรัฐบาลทักษิณ ถูกรัฐประหาร เขาเข้ามาเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้งปี 2557 ได้รับเลือกเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เคยรับตำแหน่งรัฐมนตรี รมว.ศึกษาธิการ, รมว.ยุติธรรม และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

หลังรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทำรัฐประหาร จาตุรนต์ ถูกควบคุมตัวขณะแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ ขัดคำสั่ง คสช., ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง และให้ทำผิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และความผิดต่อความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ รวมมีระวางโทษจำคุก 14 ปี เขาถูกจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนได้รับการปล่อยตัว ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557

“จาตุรนต์” เคยได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารเอเชียวีค เป็น 1 ใน 20 ผู้นำชาติเอเชียที่มีบทบาทโดดเด่นในศตวรรษที่ 20

หลังการเลือกตั้ง “ชัชชาติ- คุณหญิงสุดารัตน์-จาตุรนต์” ใครจะเป็นผู้ที่ “นายใหญ่-นายหญิง” ไว้วางใจผลักดันให้เป็นนายกฯ ต้องคอยลุ้นกันต่อไป
49732826_2009267669152016_5996603278199095296_n ส่องประวัติการศึกษา

เส้นทาง ชัชชาติ ที่น่าสนใจ ยังเคยเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

จบการศึกษาปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) University of Illinois at Urbana-Champaign, USA , ปริญญาโท วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) Massachusetts Institute of Technology, USA, ปริญญาโท บริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา (เกียรติ นิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับ คุณหญิงสุดารัตน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จากคณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ตำแหน่งทางการเมืองเคยเป็นเลขาธิการพรรคพลังธรรม, รองหัวหน้าพรรคไทยรัก ไทย, ส.ส.กทม. เขต 12 บางเขน ดอนเมือง หนองจอก และ ส.ส.เขต 7 บางกะปิ บึงกุ่ม ลาดพร้าว

เคยเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รมช.คมนาคม, รมช.มหาดไทย, รมช.สาธารณสุข, รมว.เกษตรและสหกรณ์

เส้นทางของจาตุรนต์ นั้น จบการศึกษามัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากนั้น เข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหา- วิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะเรียนชั้นปีที่ 4 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา ทำให้เขาไปใช้ชีวิตในป่า

ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหา วิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่บัฟฟาโล สหรัฐฯ และได้รับทุน Teaching ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน สหรัฐฯ เรียนต่อระดับปริญญาเอก จนสอบประมวลความรู้ ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์ เนื่องจากกลับประเทศไทย เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในปี 2529

| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3433 หน้า 14 ระหว่างวันที่ 6-9 ม.ค.2562
595959859