เปิดร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า วางกรอบป้องกันวิกฤติแล้ง/อุทกภัย

14 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
เป็นกฎหมายที่รอและลุ้นกันมานานอีกฉบับ สำหรับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทรัพยากรน้ำ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีเอกภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ ล่าสุด ผลการปรับร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ...ทั้งรับฟังความคิดเห็นนัดสุดท้ายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ คณะกรรมการกฤษฎีกา และภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พร้อมใส่พานส่งเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 มีนาคมนี้แล้ว

"ฐานเศรษฐกิจ"ขอนำสาระสำคัญที่น่าสนใจของร่างกฎหมายฉบับนี้มานำเสนอ โดยกำหนดให้มี"คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" หรือ กนช. 1 คณะ มาจากภาคส่วนต่างๆ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองคนที่ 1 ให้รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นรองคนที่ 2 มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีกรรมการจากผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ จำนวน 6 คน คัดเลือกมาจาก กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 2 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน โดยนายกฯแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อม และผังเมือง ให้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่เกิน 2 คน

[caption id="attachment_37770" align="aligncenter" width="500"] น้ำท่วมอาคาร น้ำท่วมอาคาร[/caption]

กนช.มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์และการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยต้องคำนึงถึงแผนพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำต่างๆ รวมถึงจัดทำแผนการบริหารจัดการภาวะวิกฤติน้ำแห่งชาติให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน กับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตลอดจนแผนแม่บทที่สนับสนุนแผนดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้งและอุทกภัย และเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปปฏิบัติ

รวมถึงจัดทำแผนงบประมาณแบบบูรณาการประจำปี โดยกลั่นกรองจากแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เสนอ ครม.พิจารณาจัดทำกรอบงบประมาณประจำปี เป็นต้น กรณีที่มีการปรับปรุงแผนปฏิบัติบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติน้ำแห่งชาติในสาระสำคัญ กนช.จัดให้รับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ในร่างกฎหมายฉบับนี้แบ่งการใช้น้ำ ออกเป็น 3 ประเภท ประเภทแรก ได้แก่ ใช้เพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การใช้น้ำตามจารีตประเพณี การรักษาระบบนิเวศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บรรเทาสาธารณภัย และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย

ประเภทที่ 2 ได้แก่ ใช้เพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น กำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตจาก"อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ"โดยความเห็นชอบของ"คณะกรรมการลุ่มน้ำ"ที่ทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นตั้งอยู่

ประเภทที่ 3 ได้แก่ ใช้เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ให้ได้รับใบอนุญาตจาก"อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ"โดยความเห็นชอบของ"กนช." โดยการออกใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และ 3 นั้น ให้คำนึงถึงความสมดุลของน้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมทั้งลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมความสมดุลของลุ่มน้ำ คิดอัตราค่าธรรมเนียม การขอใบอนุญาตการใช้น้ำกรณีใบคำขอ 100 บาทต่อฉบับ สำหรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 1 หมื่นบาทต่อฉบับ ประเภทที่ 3 5 หมื่นบาทต่อฉบับ ส่วนใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 500 บาท

ขณะที่ผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำ ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นแผนจัดการน้ำที่กักเก็บไว้ทั้งกรณีเกิดภาวะน้ำแล้ง และภาวะน้ำท่วม มาพร้อมกับคำขอด้วย ดังเช่น การลดปริมาณการใช้น้ำ การหาแหล่งน้ำทดแทน และอัตราความเป็นไปได้ในการเฉลี่ยน้ำที่มีเพื่อประโยชน์สาธารณะเมื่อเกิดภาวะแล้ง และมีแผนการป้องกันมิให้น้ำที่กักเก็บไว้ล้นออกไปนอกสถานที่กักเก็บ จนอาจก่อให้เกิดน้ำท่วม หรือไปเพิ่มปริมาณน้ำที่ท่วมอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีกเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม เป็นต้น

[caption id="attachment_37769" align="aligncenter" width="500"] น้ำท่วม น้ำท่วม[/caption]

ในร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เงินค่าใช้น้ำที่เรียกเก็บจากทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว รวมถึงเงินค่าปรับต่างๆ ตลอดจนเงินที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยให้กรมทรัพยากรน้ำเก็บไว้เต็มจำนวนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม และสนับสนุน พัฒนา บำรุงรักษา อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร ตลอดจนเพื่อการศึกษาวิจัย ดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อาทิ กนช. คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา องค์กรผู้ใช้น้ำ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

จากบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในร่างฉบับนี้ ได้กำหนดความรับผิดชอบทางแพ่งกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะเอาไว้ด้วย โดยกรณีการกระทำที่มีผลทำให้แหล่งน้ำเสื่อมสภาพ เสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำ หรือทำให้เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำ ระบบนิเวศ ทำให้น้ำมีสภาพเป็นพิษ หรือสุขภาพของบุคคล ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในวาระเริ่มแรกนี้ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้นำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558-2569 ) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือแผนพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำ หรือแผนป้องกันและแก้ไขภาวะวิกฤตน้ำขึ้นมาใช้บังคับ

และกำหนดให้ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ ให้รัฐบาลเสนอกฎหมายจัดตั้ง"สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" มีฐานะเป็นกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กนช.และสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับการจัดตั้งสำนักงาน กนช.

...ขยับรุกคืบไปอีกขั้นในการสร้างเอกภาพเรื่องบริหารจัดการน้ำที่ต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน มิใช่ต่างคนต่างทำดังที่แล้วมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559