หลากทรรศนะ ‘บิ๊กตู่’ งัดม.44 ลุยงานด่วน

14 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
เติมเชื้อไฟมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 เพื่อปลดล็อกการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นับจากคำสั่งฉบับที่ 3/2559 เพื่อยกเว้นกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อด้วยคำสั่งฉบับที่ 4/2559 ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

และที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มเอ็นจีโอ คือ ประกาศคำสั่งฉบับที่ 9 /2559 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เสนอ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องรอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

ต่อเรื่องนี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" อธิบายในหลักการว่า จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ประสบภาวะชะลอตัว ต้องสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับนักลงทุน ซึ่งภาครัฐมีนโยบายเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนเพื่อกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว

จากกรณีที่มีหลายฝ่ายแสดงความกังวลนั้น รัฐบาลรับฟังทุกฝ่าย และอยากให้คุยกัน เชื่อว่าทุกคนมีเหตุผล ยืนยันว่า รัฐบาลมิได้ละเลยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทุกโครงการยังต้องดำเนินการตามขั้นตอน โครงการใดมี 10 ขั้นตอนก็ต้องทำ แต่ให้ดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งการทำอีไอเอ หรืออีเอชไออี การจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคา และการร่วมทุน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กำชับว่า หากพบว่าโครงการใดไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องยุติรัฐบาลจะไม่ดั้นเมฆ

ถามว่า จะเกิดความเสียหายตามมาหรือไม่นั้น ยอมรับว่า คงมีแต่ไม่เยอะ เพราะยังไม่มีการลงนามในสัญญา ส่วนความกังวลของกลุ่มเอ็นจีโอและนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเห็นนั้น ยืนยันว่า รัฐบาลรับฟังและอยากให้คุยกัน เพราะเชื่อว่า ทุกคนมีเหตุผล และหลักการ เพื่อหาแนวทางร่วมกันได้

สอดรับกับความเห็นของนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ระบุว่า สามารถย่นระยะเวลาในการดำเนินโครงการต่างๆของภาครัฐลงได้มากกว่า 2 ปี หรือครึ่งหนึ่งของระยะเวลาเดิม ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ด้วย ล่าสุด คณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย หรือ วิป 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย วิปรัฐบาล วิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และวิปสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาสนับสนุนการออกคำสั่งดังกล่าว

ขณะที่ฟากนักวิชาการและกลุ่มเอ็นจีโอ เดินหน้าคัดค้านคู่ขนานเช่นกัน นักวิชาการรายหนึ่ง แสดงความกังวลพร้อมตั้งข้อสังเกตผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การออกคำสั่งใช้มาตรา 44 ครั้งนี้ ได้ไปเปลี่ยนแปลงหลักการเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

"การระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วน ต้องเร่งรัดโครงการให้เกิดขึ้นนั้นรับฟังได้ระดับหนึ่ง โดยส่วนตัวเห็นว่า ทุกโครงการไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้น หากรัฐบาลเห็นว่า โครงการใดต้องเร่งดำเนินการสามารถออกเป็น พ.ร.ก. ขึ้นมาเฉพาะเรื่อง เฉพาะโครงการได้

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทางทฤษฎีหรือหลักวิชาการนั้น ถือว่า ผิดขั้นตอน เนื่องจากกระบวนการทำเอชไอเอ และอีเอชไอเอนั้น เป็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความเหมาะสม เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมของแต่ละโครงการก่อน ดังนั้น หากมองในประเด็นนี้ การทำคู่ขนานดังกล่าวจะไม่เป็นประโยชน์ใดๆ เพราะหากทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดไม่ใช่โครงการที่ได้รับการอนุมัติในขั้นต้น บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลนั้นๆ อาจจะไม่ได้ลงนามทำสัญญา สุดท้ายหน่วยงานของรัฐก็ต้องเปิดประมูลเพื่อหาผู้ชนะประมูลรายใหม่เพื่อมาทำโครงการที่ผ่านเอชไอเอ และอีเอชไอเอ ดังกล่าว

"ที่สำคัญ จะยิ่งไปเพิ่มและสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในพื้นที่มากขึ้นด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559