เคาะประกันภัยข้าวโพดเบี้ย 59 บาทต่อไร่ ชง ครม. ม.ค. นี้!!

13 ม.ค. 2562 | 00:57 น.
คลังดันประกันข้าวโพดเข้า ครม. ม.ค. นี้ เคาะเบี้ย 59 บาทต่อไร่ พร้อมประกันภัยข้าวที่เบี้ยลดลงจาก 90 บาทต่อไร่ เหลือ 85 บาทต่อไร่ ดึงเกษตรกรร่วมจ่ายเบี้ยเอง เพื่อได้รับความคุ้มครองเพิ่ม ด้าน ธ.ก.ส. แจงนาข้าวภาคใต้ที่เสียหายจาก 'ปาบึก' ยังได้รับคุ้มครองถึง มี.ค. 62 หลังจากจ่ายไปแล้วทั่วประเทศ 1,500 ล้านไร่ จากนํ้าท่วม-ฝนทิ้งช่วง

หลังจากลองผิดลองถูกมาหลายปีในการทำ "ประกันภัยนาข้าว" ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญจนครบ 6 ปี ในปี 2560 โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 22.39 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันรวม 2,015 ล้านบาท มีพื้นที่ภัยพิบัติ 1,645 ล้านไร่ จ่ายค่าสินไหมรวม 2,072 ล้านบาท คิดเป็นอัตราความเสียหาย 103.29% และปัจจุบัน อยู่ระหว่างการรับประกันภัยปี 2561 ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2562 โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27.61 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันรวม 2,400 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้จ่ายเงินชดเชยความเสียหายไปแล้ว 1,500 ล้านบาท

ดังนั้น จากนี้ไปรัฐบาลจะนำโมเดลประกันภัยข้าว ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ที่แม้แต่ประเทศในอาเซียนยังมาขอดูเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ เพราะการทำ Crop Insurance ยาก ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่เหมือนประกันภัยรถยนต์ที่มีสูตรชัดเจน ดังนั้น เมื่อได้โมเดลที่ดี มีพอร์ตขนาดใหญ่ เพราะมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการเกือบ 30 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ รัฐบาลจึงมั่นใจที่นำโมเดลของข้าวไปใช้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยอื่น ๆ ให้ได้รับการคุ้มครองด้วย โดยพืชที่เกษตรกรต้องการให้ทำประกัน คือ ลำไยและมันสำปะหลัง


MP20-3434-A

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โครงการประกันภัยพืชผลที่จะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ม.ค. นี้ จะทำพร้อมกันทั้งประกันภัยข้าวและข้าวโพด และครั้งนี้ นอกจากแบบเดิมที่มีการร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันระหว่างรัฐบาล เกษตรกร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว จะมีส่วนเพิ่ม (On Top)ให้เกษตรกรร่วมจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม (Co-Payment) ด้วย เพื่อให้ได้รับเงินคุ้มครองเพิ่มขึ้น

"ถือเป็นอีกขั้นของการประกันภัยพืชผล ซึ่งแต่ก่อนเราให้รัฐร่วมจ่ายเบี้ยให้ พอรู้แล้วว่ามันดี เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า เมื่อเสียหายแล้วได้รับการคุ้มครอง นอกจากเงินชดเชยจากรัฐส่วนหนึ่ง ยังได้เงินจากประกันด้วย ทำให้มีเงินไปเพาะปลูกรอบใหม่ได้ จากนี้ก็จะมีอีกส่วนเพิ่มขึ้น อย่างถ้าให้เกษตรกรจ่ายเพิ่มอีก 5 บาท 10 บาท 15 บาท ขึ้นกับพื้นที่เสี่ยง เมื่อเกิดความเสียหายก็จะได้เงินชดเชยเพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นกับความสมัครใจ แต่ที่ผ่านมา เราให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง และเขาเริ่มเห็นประโยชน์ของการทำประกันภัยแล้ว"

 

[caption id="attachment_372153" align="aligncenter" width="337"] เกตโกมล ไพรทวีพงศ์ เกตโกมล ไพรทวีพงศ์[/caption]

ด้าน นายเกตโกมล ไพรทวีพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาธุรกิจประกันภัย (ธ.ก.ส.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อน 'ปาบึก' นอกจากจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 1,111 บาทต่อไร่แล้ว เกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวกับ ธ.ก.ส. จะได้เงินประกันเพิ่มเติมอีก 1,260 บาทต่อไร่ ซึ่งส่วนนี้จะจ่ายได้ไม่เกิน 15 วัน หลังเสร็จกระบวนการ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ยังอยู่ในระยะประกันภัยข้าวปี 2561 ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการทั่วประเทศได้จ่ายเงินสินไหมทดแทนไปแล้ว 1,500 ล้านบาท คิดเป็น 1 ล้านไร่เศษ เพราะนาข้าวปีนี้ได้รับความเสียหาย 2 ครั้ง คือ นํ้าท่วมต้นฤดู และปลายฤดู มีเรื่องฝนทิ้งช่วง

"การทำประกันภัยนาข้าวปีนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27.61 ล้านไร่ เบี้ยประกันรวม 2,400 ล้านบาท โดยเป็นพื้นที่ภาคใต้เพียง 2 แสนไร่ เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวน้อยมาก มีพัทลุง นครศรีธรรมราช ระโนด และสงขลาเท่านั้น ที่เป็นที่ลุ่มตํ่า และหากพื้นที่นํ้าท่วมสามารถลดลงได้ภายใน 1 สัปดาห์ ข้าวอาจจะกระทบบ้าง แต่คงไม่เสียหาย 100%"

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอการประกันภัยข้าว ปีการผลิต 2562 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในเดือน ม.ค. นี้ เพราะต้องรอหลักเกณฑ์การประกันภัยข้าวโพดที่จะมีการพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ในวันที่ 16 ม.ค. นี้ก่อน หลังจากเกณฑ์การประกันภัยข้าวนาปีได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) แล้ว

โดยปีนี้จะเป็นการทำประกันภัยข้าวโพดครั้งแรก และทำพร้อมกับประกันภันข้าว และจะเป็นปีแรกที่จะให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายเบี้ยประกัน (Co-Payment) หลังจากที่ 4-5 ปีที่ผ่านมา ในการดำเนินการประกันภัยข้าวนั้น รัฐบาลและ ธ.ก.ส. ร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกร


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

สำหรับการประกันภัยข้าวปีการผลิต 2562 ค่าเบี้ยประกันจะลดเหลือ 85 บาทต่อไร่ จากปีก่อน 90 บาทต่อไร่ โดยที่รัฐบาลร่วมจ่ายให้ 60% ขณะที่ เกษตรกรจ่าย 40% และหากเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จะร่วมจ่ายให้อีก ซึ่งกรณีนี้ หากพื้นที่ได้รับความเสียหายจะได้รับเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ และยังมีส่วนที่ 2 หากเกษตรกรต้องการคุ้มครองเพิ่มขึ้น 240 บาทต่อไร่ รวมเป็น 1,500 บาทต่อไร่ จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันทั้งหมด รวมถึงอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยค่าเบี้ยจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ หากเป็นพื้นที่เสี่ยงตํ่า ซึ่งมี 56 จังหวัด จะคิดค่าเบี้ย 5 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลางมี 17 จังหวัด ค่าเบี้ย 15 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 4 จังหวัด คือ ชุมพร พัทลุง นครศรีธรรมราช และนราธิวาส จะต้องจ่ายค่าเบี้ย 25 บาทต่อไร่

กรณีการประกันภัยข้าวโพดขั้นพื้นฐาน คิดค่าเบี้ยที่ 59 บาทต่อไร่ โดยที่รัฐบาลร่วมจ่ายในอัตรา 60% และเกษตรกรรับไป 40% โดยจะได้รับการคุ้มครองความเสียหายที่ 1,500 บาทต่อไร่ และกรณีที่ต้องการความคุ้มครองเพิ่ม 240 บาทต่อไร่ รวมเป็น 1,740 บาทต่อไร่ ก็ต้องซื้อเพิ่มเติมแบบเดียวกับข้าว ที่แบ่งความเสี่ยงออกเป็น 3 ระดับเช่นกัน

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,434 วันที่  10 - 12 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว