เทกระจาดประมูลที่ดินรัฐ! "กทท.-ร.ฟ.ท." งัดที่แปลงใหญ่เดินหน้าพัฒนา

13 ม.ค. 2562 | 03:00 น.
รัฐเร่งงัดที่ดินแปลงใหญ่หารายได้ ทั้งลงทุนเอง-พีพีพี กทท. นำร่องแปลงองค์การฟอกหนัง 58 ไร่ ส่วน ร.ฟ.ท. ลุย 3 แปลง เผย สถานีกลางบางซื่อ 32 ไร่ พร้อมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในปีนี้

เตรียมรีวิวแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณพื้นที่แปลงใหญ่ เพื่อหารายได้ป้อนองค์กรในปี 2562 นี้ ให้ชัดเจนอีกครั้ง หลังจากช่วงที่ผ่านมามีการทบทวนแผนแม่บทและแผนการพัฒนาครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

โดยความชัดเจนในเรื่องนี้ ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังและรักษาการผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงแผนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ดินของ กทท. 2,353 ไร่ ว่า สามารถนำ ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 4-5 แปลง ประกอบด้วย

1.บริเวณด้านข้างอาคารที่ทำการ กทท. จำนวน 17 ไร่ 2.บริเวณคลังสินค้าผ่านแดนเดิม จำนวน 15 ไร่ 3.บริเวณอาคารทวิชเดิม สำนักแพทย์และอนามัย กทท. และคลังสินค้าใกล้เคียง จำนวน 54 ไร่ 4.บริเวณอาคารพาณิชย์ตลาดคลองเตยถึงหัวมุมถนนที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เช่า จำนวน 127 ไร่ และ 5.บริเวณองค์การฟอกหนัง 58 ไร่

ความคืบหน้าอยู่ระหว่างผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community ตามผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการต่าง ๆ กทท. จึงได้เร่งเดินหน้าพัฒนาพื้นที่บริเวณโรงฟอกหนัง กระทรวงกลาโหม จำนวน 58 ไร่ ให้เป็นอาคารที่พักอาศัยทรงสูง สำหรับรองรับชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ รูปแบบ Smart Community โดยเบื้องต้นจะเสนอให้ กทท. ลงทุนเองราว 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางเมืองใหม่ในใจกลางเมืองอีกด้วย


TP12-3434-A

"แผนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ชุมชนในพื้นที่ของ กทท. จำนวน 26 ชุมชน ชุมชนใต้ทางด่วน 5 แห่ง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ สถาบันการศึกษา และอื่น ๆ ในพื้นที่ พร้อมทั้งออกแบบการจัดสรรพื้นที่ในบริเวณโครงการดังกล่าว ได้แก่ อาคารพักอาศัยสูง 25 ชั้น จำนวน 4 อาคาร เป็นห้องขนาด 33 ตารางเมตร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต ตั้งอยู่ซอยตรีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง อาคารส่วนกลางที่เป็นสถานที่ราชการ สำนักงานต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ให้เช่าภายในอาคาร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกกับผู้อยู่อาศัยภายในโครงการ พร้อมด้วยอาคารจอดรถส่วนกลาง เพื่อให้บริการแก่ผู้พักอาศัย อาคารตลาด หรือ พื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เช่าขายสินค้า (Community Mall) โรงเรียน รวมถึงอาคารอเนกประสงค์อื่น ๆ และพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อน"

ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท. มีที่ดินทั่วประเทศ จำนวน 234,976 ไร่ เป็นที่ดินใช้เพื่อการเดินรถ 198,674 ไร่ (84%) ประกอบด้วย พื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่ ย่านสถานี 5,333 ไร่ และบ้านพัก 3,755 ไร่ เป็นที่ดินไม่ใช้เพื่อการเดินรถ 36,302 ไร่ (15.4%) ประกอบด้วย ที่ดินจัดประโยชน์ได้ 34,487 ไร่ ย่านพหลโยธิน 1,070 ไร่ และบ้านพัก 745 ไร่

โดยมีแผนพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้ คือ 1.บริเวณรอบสถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ 2.บริเวณ กม.11 เนื้อที่ 359 ไร่ 3.บริเวณสถานีแม่นํ้าย่านคลองเตย เนื้อที่ 260 ไร่ นอกจากนั้นยังมีแปลงย่อยบนพื้นที่ต่าง ๆ อีกบางส่วน อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีขอนแก่น 108 ไร่ ที่อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุน รวมถึงในปี 2564-2565 มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่รัชดาภิเษก อาร์ซีเอ

"สำหรับการนำพื้นที่ของรถไฟมาพัฒนา (Non-Core) โดยปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้จากเดิม 10% เนื่องจากการเร่งรัดการทำสัญญาเช่าโครงการที่ครบกำหนด ส่วนธุรกิจหลักอย่างการเดินรถให้บริการ (Core-Business) นั้น คาดว่ารายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 3,800 ล้านบาท รายได้จากสินค้าอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท และหากมีศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟจะเพิ่มเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท"

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,434 ระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว