สรท. เป่าปาก! ส่งออกปี 2562 มีแต่ปัจจัยเสี่ยง "สงครามการค้า" ฉุดอิเล็กทรอนิกส์ทรุดต่อเนื่อง

08 ม.ค. 2562 | 11:34 น.
สรท. ชี้! สถานการณ์ส่งออก ปี 2562 ปัจจัยเสี่ยงอื้อ พิษสงครามการค้าฉุดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทรุดต่อเนื่อง แนะภาครัฐสนับสนุนเปิดตลาดใหม่ลาตินอเมริกา ระบุ สินค้าสิ่งทอ อาหาร และเม็ดพลาสติก สวนกระแสยังเป็นดาวรุ่ง

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. คาดการณ์การขยายตัวของภาคส่งออกไทยในปี 2562 ไว้ที่ 5% ซึ่งลดลงจากปี 2561 ที่ประมาณการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ราว 7–7.3% โดยมูลค่าการส่งออกช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ย.) ส่งออกได้รวม 232,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในเดือนสุดท้าย คือ ธ.ค. หากไทยจะทำเป้าหมายการส่งออกขยายตัวได้ที่ 7% จะต้องส่งออกในเดือนดังกล่าวด้วยมูลค่า 20,513 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหากจะทำเป้าหมาย 7.3% จะต้องส่งออกให้ได้มูลค่า 21,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

"ปัจจัยที่ทำให้ สรท. มองการขยายตัวของภาคส่งออกในปี 2562 ลดลงเหลือเพียง 5% จากพบว่า ในปีนี้มีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสงครามการค้าที่กระทบต่อมูลค่าการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อิเล็กทรอนิกส์ เห็นได้จากเดิมมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ขณะนี้กลับมาติดลบอยู่ที่ 3–5% เพราะความต้องชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนลดลง และปีนี้ยังต้องจับตาราคาน้ำมัน หากยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต"

ขณะเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงภาคส่งออกในปี 2562 ยังมีเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งพบว่า ปัจจัยแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะต้องติดตามนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า จะกระทบต่อค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมทั้งไทยจะต้องติดตามดูสถานการณ์ทางการเงินในภูมิภาค ต้องเปรียบเทียบค่าเงินคู่แข่ง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยคุณภาพสินค้า และลดต้นทุนของสินค้าให้ได้เพื่อปรับตัว

สำหรับโอกาสทางการส่งออกที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ สรท. ยังประเมินว่า กลุ่มสินค้าประเภทสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และเม็ดพลาสติก ยังเป็นกลุ่มสินค้าดาวรุ่งที่มีโอกาสส่งออกและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสรักสุขภาพออกกำลังกายยังดีต่อเนื่อง ทำให้ประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพิ่ม ขณะเดียวกัน สินค้าประเภทอาหารยังถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย สามารถนำอาหารไปเปิดตลาดใหม่ได้

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท. เผยถึงภาพรวมการส่งออกเดือน พ.ย. 2561 ว่า จากผลกระทบเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกชะลอตัวลง ประกอบกับสงครามการค้าที่ทำให้การส่งออกในตลาดหลักได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะตลาดจีน ที่ติดลบมากถึง 9.84% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในเดือน พ.ย. มีมูลค่าที่ 21,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 0.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

"ปีนี้พบว่า มีแต่ปัจจัยลบที่ต้องจับตามอง ทั้งสงครามการค้าที่ต้องรอดูผลการเจรจา ค่าเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งกรณีของ Government Shutdown ในสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ เราเคยประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ขณะนี้ก็ต้องนำกลับมาดูใหม่ ว่า อาจจะส่งผลกระทบเรา เพราะถ้าข้าราชการไม่ได้รับเงินเดือนก็จะกระทบต่อการจับจ่ายซื้อสินค้า ภาพรวมในปีนี้ สรท. จึงประมาณการการณ์ว่า การส่งออกไทยจะขยายตัวได้เพียง 5% ลดลงจากปี 2561 ที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 7–7.3%"


088

อย่างไรก็ดี สรท. มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมการค้าเปิดตลาดการค้าใหม่ ทำกิจกรรม Trade Mission เพิ่มมากขึ้น โดยแยกตามกลุ่มประเทศ เช่น ตลาดแอฟริกา สินค้าที่มีศักยภาพและมีความต้องการสูง คือ สินค้ากลุ่มอาหาร ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเจาะตลาดได้ ตลาดตะวันออกกลาง ในส่วนของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย ภาครัฐคงให้เร่งรัดความสัมพันธ์ เริ่มจากการทูตเชิงพาณิชย์ทั้งในการส่งออกและการลงทุน

ตลาดจีน การเข้าไปเจาะตลาดจีนควรให้ความสำคัญระดับมณฑลทั้ง 31 มณฑลมากขึ้น เพราะจีนถือเป็นตลาดใหญ่และเป็นตลาดศักยภาพสูง แต่ละมณฑลมีลักษณะและโอกาสทางการค้าที่แตกต่างกัน โดยเน้นสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของไทย ที่มีศักยภาพ เช่น มณฑลกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ หรือ มณฑลที่มีระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ส่วนตลาดลาตินอเมริกา ควรมุ่งเน้นสินค้าอาหาร เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและตลาดสำคัญอย่างอาเซียน ภาครัฐควรจัดงบประมาณกับการจัดงานแสดงสินค้าระดับชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันสินค้าไทยวางจำหน่ายให้มากขึ้น

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. เผยว่า การส่งออกในเดือน พ.ย. 2561 กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม หดตัวที่ 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าประเภทข้าวชะลอตัวสูงถึง 22.4% คาดว่า สถานการณ์ในปี 2562 ก็จะยังทรงตัว เช่นเดียวกับ ยางพาราที่ชะลอตัว 25% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัว 6% น้ำตาลทรายชะลอตัว 32% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมภาพรวมหดตัว 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสินค้ายานพาหนะชะลอตัวถึง 10.8%

"สินค้าที่ชะลอตัวมากที่สุด คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่งออก ลดลง 4.8%, แผงวงจรไฟฟ้า ลดลง 3.1%, ฮาร์ดดิสท์ไดร์ฟ ลดลง 4.9% ภาพรวมในปี 2561 สินค้าในกลุ่มนี้คาดจะขยายตัวอยู่ที่ 4-5% ส่วนปี 2562 มองว่าจะทรงตัว ขยายตัวเพียง 0.2% เพราะสินค้ากลุ่มนี้จะยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างต่อเนื่องและเป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องจับตาตลอดทั้งปีนี้"

ขณะที่ การส่งออกไปยังตลาดหลัก ในเดือน พ.ย. 2561 พบว่า ขยายตัว 5.3% โดยตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า 11.9%, ญี่ปุ่น ขยายตัว 4.3% แต่มูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปหดตัวต่อเนื่อง ส่วนส่งออกไปตลาดศักยภาพหดตัว 1.7% โดยเฉพาะส่งออกอาเซียน (5 ประเทศสมาชิกเดิม) นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่ตลาดส่งออกหดตัว อาทิ เอเชียใต้ 4.3%, ฮ่องกง 7.6%, เกาหลีใต้ 11.1%, ไต้หวัน 1.8% และจีน 8.94%

595959859