ตลาดอสังหาฯ ไม่ง่าย! "บ้าน-คอนโดฯ" รอขาย 4.54 แสนยูนิต

10 ม.ค. 2562 | 03:40 น.
แม้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับชั้นนำตลอดจนกูรูทั้งหลายยังเชื่อมั่นว่า ในปี 2562 นี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตอาจลดน้อยลงกว่าปีก่อนบ้าง จากปัจจัยลบทั้งหลายที่รุมเร้า ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่กระทบการส่งออก อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และเกณฑ์มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ หรือ LTV ที่จะมีผลบังคับใช้เดือน เม.ย. ปีนี้ กระทบกำลังซื้อที่อยู่อาศัยลดน้อยถอยลง ถือว่าเป็นปีที่ไม่หมู

ที่น่าจับตา คือ จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายทั่วประเทศที่สูงถึง 454,814 หน่วย มูลค่า 1,344,356 ล้านบาท จากการประเมินของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย หรือ AREA ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของตลาดรวมทั้งประเทศ ปี 2561 ที่มีมูลค่า 4.496 ล้านล้านบาท โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยเปิดขายมากที่สุด มูลค่าก็สูงสุดด้วย รวมกันครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 40% ของทั้งประเทศ

ทั้งนี้ นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูล AREA กล่าวถึงตลาดในกรุงเทพฯ ว่า ปี 2562 มีหน่วยรอขาย 1.8 แสนหน่วย ยังตํ่ากว่าปี 2561 ที่มี 1.9 แสนหน่วย และส่วนใหญ่ 70% เป็นคอนโดมิเนียม เนื่องจากปีที่ผ่านมา ดีเวลอปเปอร์เร่งระบายสต๊อกอย่างหนักมาก เปิดขายใหม่ช่วงไตรมาสแรก สำหรับปีนี้ก็คงดำเนินการเช่นเดียวกัน แต่ขณะเดียวกัน มีการเปิดขายใหม่ด้วย ก่อนที่มาตรการควบคุมสินเชื่อใหม่ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มมีผลบังคับใช้เดือน เม.ย. ปีนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในปีนี้ผู้ประกอบการจะเปิดโครงการใหม่ลดน้อยลง เพราะภาวะตลาดค่อนข้างถดถอย อัตราการขายช้าและลดลง จากปกติในแต่ละเดือนจะมียอดขายเฉลี่ย 5-6% แต่ปัจจุบันเหลือ 3-4%


MP25-3434-A

สอดคล้องกับ นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัยคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่า ในส่วนของคอนโดมิเนียม ผู้ประกอบการควรลดการเปิดตัวโครงการใหม่ให้อยู่ในภาวะสมดุลที่ตลาดสามารถดูดซับได้ สำหรับตลาดกรุงเทพฯ ที่ประมาณปีละ 40,000 หน่วย เพื่อให้ตลาดมีการดูดซับอุปทานคงค้างให้กลับมาสู่ภาวะปกติ จากอุปทานที่เหลือขายอีกกว่า 40,000 หน่วย เน้นการระบายสต็อคคงค้างในแต่ละทำเลก่อน เพื่อเตรียมรับมือกับปัจจัยลบต่าง ๆ ที่อาจจะเข้ามากระทบในปีหน้า ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงในเรื่องของการไม่โอนกรรมสิทธิ์ของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่โหมเข้าลงทุนในคอนโดมิเนียมในเมืองไทยเป็นจำนวนมากในปีนี้ สำหรับแนวราบหรือบ้านจัดสรร ตลาดยังสามารถไปได้ เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็น "เรียล ดีมานด์" คือ ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง น้อยมากที่จะซื้อเพื่อการลงทุน ซึ่งโดยภาพรวมตลาดยังสามารถดูดซัพได้ดี ในทำเลและระดับราคาที่เหมาะสม

ขณะที่ ในมุมของผู้ประกอบการอย่าง นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มั่นใจตลาดอสังหาฯ ยังเติบโตได้ จากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งหลายด้าน ทั้งการส่งออกที่ยังโต แม้อาจลดลง การท่องเที่ยวที่ยังคงโตได้ต่อเนื่อง และการลงทุนโดยภาครัฐที่จะมีความชัดเจนมากที่สุด ส่วนการลงทุนของเอกชน มองว่า มีแนวโน้มในทิศทางบวก รอเพียงสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งนิ่ง นโยบายการลงทุนถูกสานต่อ สาธารณูปโภคแล้วเสร็จ เชื่อก็น่าจะเกิดภาพการลงทุนใหม่ ๆ ตามมาอีกจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมและตลาดทุนด้วย ดังนั้น คาดตลอดทั้งปีตลาดจะเติบโตได้ประมาณ 3-4% โดยเฉพาะในกลุ่มแนวราบที่ผู้ประกอบการแนวราบส่วนใหญ่มักวางนโยบายการเติบโตให้สอดคล้องกับความเป็นไปของทิศทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ปีนี้ถือเป็นอีกปีที่ท้าทายผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องสร้างการเติบโตด้านผลประกอบการ อีกทั้งประคองตลาดภาพรวมฝ่าปัจจัยลบให้มีการขยายตัวต่อเนื่อง


➣ "อสังหาฯภูธร" หดตัวในรอบ 10 ปี

นอกจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและเมืองท่องเที่ยวหลักแล้ว ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่า ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง เพชรบุรี ก็เติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะเป็นทั้งเมืองอุตสาหกรรมและยังเป็นเมืองตากอากาศอีกด้วย เมืองหลักในจังหวัดภูมิภาคทั้งหลายที่ไม่ใช่เป็นเมืองชายแดน ไม่ใช่เมืองตากอากาศ หรือไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม กลับมีขนาดของตลาดที่อยู่อาศัยไม่ใหญ่มากนัก แสดงให้เห็นว่า ตลาดที่อยู่อาศัยภูมิภาคหดตัวลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยลงกว่าแต่ก่อน

จังหวัดที่น่าห่วงใยในกรณีการขายที่อยู่อาศัยมี 5 จังหวัด ได้แก่ อันดับ 1 ตาก แม้มีหน่วยขายเหลือเพียง 480 หน่วย แต่เหลืออยู่ถึง 40% ของทั้งหมด และมีอัตราการขายต่อเพียง 2.1%, อันดับ 2 นครศรีธรรมราช เหลือขายอยู่ 2,100 หน่วย เหลืออยู่ถึง 38% ของทั้งหมด และมีอัตราการขายต่อเพียง 2.3%, อันดับ 3 ปราจีนบุรี เหลือขายอยู่ 2,700 หน่วย ซึ่งเหลืออยู่ถึง 55% ของทั้งหมด และมีอัตราการขายต่อเพียง 2.7%, อันดับ 4 สุราษฎร์ธานี เหลือขายอยู่ 3,100 หน่วย ซึ่งเหลืออยู่ถึง 36% ของทั้งหมด และมีอัตราการขายต่อเพียง 2.6% และอันดับ 5 อุบลราชธานี เหลือขายอยู่ 2,200 หน่วย ซึ่งเหลืออยู่ถึง 34% ของทั้งหมด และมีอัตราการขายต่อเพียง 2.9% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการอีก 47 จังหวัดที่มีขนาดเล็ก คาดว่าจะมีหน่วยขายเหลือเข้ามาขายในปี 2562 จำนวน 114,331 หน่วย ซึ่งถือเป็นประมาณ 30% ของหน่วยขายที่เคยเปิดตัวทั้งหมด มีมูลค่าหน่วยเหลือขายหรือที่รอผู้ซื้ออยู่ รวมกันเป็นเงิน 217,229 ล้านบาท ทำให้ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของที่อยู่อาศัยในจังหวัดเล็ก มีค่าเพียง 1.9 ล้านบาทต่อหน่วย และมีอัตราการขายได้ราว 3.0% ต่อเดือน อาจกล่าวได้ว่าใน 47 จังหวัดนี้ เฉลี่ยแล้วจังหวัดหนึ่ง ๆ มีจำนวนหน่วยเหลือขาย 2,433 หน่วย เป็นเงิน 4,622 ล้านบาท นับว่าเป็นเพียงจังหวัดที่มีขนาดอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก ทั้ง 47 จังหวัดนี้ รวมกันมีจำนวนหน่วยรอขายมากกว่ากรุงเทพมหานครเล็กน้อย แต่มูลค่าน้อยกว่ามาก เพราะราคาเฉลี่ยถูกมาก

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,434 วันที่ 10-12 มกราคม 2562

595959859