เอกซเรย์ปัจจัยลบทำแอปเปิลหุ้นร่วง-รายได้หลุดเป้า

11 ม.ค. 2562 | 08:41 น.
การดำดิ่งของราคาหุ้นบริษัท แอปเปิล อิงค์. ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 ม.ค.) ถึง 10% หลังจากที่นายทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออกมายอมรับว่า รายรับไตรมาสแรก (สิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม 2561) ของปีการเงินใหม่นี้น่าจะพลาดเป้าไปถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลดตํ่ากว่าเป้ารายได้เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี และทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทหลุดลงจากระดับเหนือ 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่เพิ่งทำสถิติได้เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 มาอยู่ที่ตํ่ากว่า 700,000 ล้านดอลลาร์ เกิดจากหลากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ที่สำคัญคือยอดขายในตลาดเอเชีย-แปซิฟิกที่แผ่วลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่นักวิเคราะห์เรียกว่า แอปเปิลทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเอง คือการปรับราคาโทรศัพท์ไอโฟนระดับแพงสุดให้เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้ซื้อจำนวนมากมองหาทางเลือกอื่นแทน โดยเฉพาะในจีน ตลาดใหญ่ที่ทำรายได้เป็นอันดับ 3 ของแอปเปิล (เกือบ 52,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่รายได้มาจากการขายไอโฟน) ซึ่งการแข่งขันสูงมาก ส่วนแบ่งตลาดของไอโฟนหดจาก 12% เหลือเพียง 10% ในไตรมาส 4 ของปี 2561 แนวโน้มไม่ดีขึ้นสำหรับตลาด จีนเมื่อสถานการณ์ของแอปเปิลถูกซํ้าเติมด้วยสงครามการค้าที่จีนมีกับสหรัฐอเมริกา และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ทำให้ผู้บริโภคใช้เงินน้อยลงกับสินค้าบางประเภท ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทโฟน

แอบเปิล การบาดเจ็บของแอปเปิลในช่วงเวลานี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในองค์กรและการดำเนินงานของบริษัทเองเท่านั้น เพราะแนวโน้มของอุตสาหกรรมสินค้าไฮเทคก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้แอปเปิลสูญเสียจุดแข็งที่เคยมีมา พัฒนาการของเทคโนโลยีที่มาถึงจุดยากจะก้าวให้ฉีกต่างออกไปจากเดิมและจุดที่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนสูงลิ่ว ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์พลอยสูงจนกดราคาไม่ลงตามไปด้วย สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เริ่มไม่ฉีกต่างไปจากรุ่นก่อนหน้า หรือจะลํ้าขึ้นมาก็เพียงไม่กี่ก้าว ที่สำคัญคือชิ้นส่วนและเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่แอปเปิลต้องใช้นั้น มาจากหลากหลายซัพพลายเออร์ซึ่งรวมถึงบริษัทที่เป็นคู่แข่ง ยกตัวอย่าง จอ OLED ที่ใช้ในไอโฟนรุ่นท็อปๆ นั้นผู้ผลิตและกำหนดราคาคือบริษัท ซัมซุงฯ

ฝ่าวิบากคดีละเมิดลิขสิทธิ์

อีกปัจจัยลบที่มีผลต่อราคาหุ้นแอปเปิลคือการแพ้คดีความในต่างประเทศ ที่ประดังกันเข้ามาในช่วงเวลานี้ นอกเหนือจากจีน ที่มีคำสั่งจากศาลท้องถิ่นเมืองฝูโจว ห้ามการนำเข้าและจำหน่ายโทรศัพท์ไอโฟนบางรุ่นในจีน ดังเป็นข่าวไปเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาหลังแอปเปิ้ลแพ้คดีกรณีบริษัท ควอลคอมม์ ผู้ผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ฟ้องว่าแอปเปิลละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นำเทคโนโลยีระบบจอสัมผัส (ทัชสกรีน) ของควอลคอมม์ฯไปใช้โดยไม่จ่ายเงินค่าสิทธิบัตร อีกประเทศที่แอปเปิลกำลังเผชิญวิบากกรรมคล้ายๆ กัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน และเจ้ากรรมนายเวรรายเดียวกัน คือประเทศเยอรมนี โดยศาลแขวงนครมิวนิก แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ได้มีคำตัดสิน ห้ามบริษัท แอปเปิลจำหน่ายไอโฟนรุ่นเก่า ได้แก่ ไอโฟน 7 และไอโฟน 8 ที่ใช้ชิปโมเด็มของอินเทล และชิ้นส่วนจากบริษัท ควอโวฯ (Qorvo) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ควอลคอมม์ กรณีนี้แอปเปิลตกเป็นจำเลยถูกควอลคอมม์ยื่นฟ้อง ข้อหาละเมิดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการทำงานของระบบจัดการพลังงานของเครื่อง  การตัดสินของศาลยังทำให้แอปเปิ้ลต้องจ่าย “ค่าเสียหาย” ให้แก่ควอล คอมม์อีกด้วย แต่ยังไม่ได้มีการเปิด เผยมูลค่าความเสียหายดังกล่าว

งานนี้ แม้แอปเปิลเตรียมการยื่นอุทธรณ์ แต่บริษัทก็จำเป็นต้องทำตามคำสั่งศาลด้วยการยก เลิกการจำหน่ายโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นที่เป็นปัญหาไปแล้ว ซึ่งคิดเป็นปริมาณยอดที่กระทบก็ไม่กี่ล้านเครื่อง (ขณะที่ยอดจำหน่ายรวมของไอโฟนในเยอรมนีอยู่ในเกณฑ์ 100 ล้านเครื่อง) แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะการแพ้คดีต่อเนื่อง 2 คดีติดกันใน 2 ประเทศ อาจเป็นสัญญาณอันตราย ที่เตือนว่าอีกคดีความที่กำลังจะมีการตัดสินกันในสหรัฐอเมริกาในไม่กี่เดือนข้างหน้า แอปเปิลอาจต้องกุมขมับอีกครั้งหรือไม่? โดยงานนี้เป็นการยื่น ฟ้องตอบโต้กันของทั้ง 2 ฝ่าย โจทย์ เก่าคือควอลคอมม์ ยื่นฟ้องว่าแอปเปิลเอานวัตกรรมของควอลคอมม์ไปใช้โดยไม่จ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม (อีกแล้ว) ขณะที่แอป เปิลฟ้องควอลคอมม์ว่าผูกขาดการ จำหน่ายชิปเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายที่ใช้ในอุปกรณ์พกพา ไม่รู้ว่าผลตัดสินจะออกมาหมู่หรือจ่า แต่การ มีคดีความและถูกตัดสินต้องจ่ายเงินชดเชยบวกกับการเสียโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดใหญ่อย่างจีนและเยอรมนีที่ผ่านมา ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยร่วมที่ทำให้แนวโน้มราคาหุ้นของแอปเปิลดำดิ่งอย่างน่าตกใจในเวลานี้

รายงาน | หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,434 ระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2562