ชงนายกฯ ไฟเขียวอีอีซีดี เร่งคลอดทีโออาร์ รัฐมีรายได้ขั้นต่ำ 2 พันล้านต่อปี

11 ม.ค. 2562 | 04:22 น.
กระทรวงดีอี ชง “ประยุทธ์” คลอดหลักเกณฑ์รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนอีอีซีดี 23 ม.ค.นี้ เร่งออกทีโออาร์ มอบหมายให้ กสท โทรคมนาคม ไปร่วมลงทุนตามแผนแม่บทศูนย์กลางการลงทุนด้านนวัตกรรมดิจิตอล การันตีภาครัฐต้องมีรายได้ขั้นตํ่าไม่น้อยกว่า 2,087 ล้านบาทต่อปี

การดำเนินงานโครงการเร่งด่วนสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ขณะนี้เหลือเพียงโครงการเดียวที่ยังไม่สามารถประกาศเชิญชวนภาคเอกชนหรือออกทีโออาร์ ให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐ(พีพีพี)ได้ ซึ่งเป็นโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลหรืออีอีซีดี ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่กว่า 700 ไร่ เนื่องจากยังติดปัญหาว่า หลักการร่วมทุนในการดำเนินงานของอีอีซีดี ยังไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

โดยในการประชุมกพอ.ในวันที่ 23 มกราคม นี้ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) จะนำหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน เข้าสู่การพิจารณาของกพอ.เห็นชอบ เพื่อนำไปสู่การจัดทำทีโออาร์และประกาศเชิญชวนนักลงทุนต่อไปในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

TP5-3434-A

แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนนั้น ได้มีการกำหนดให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมลงทุนกับเอกชน และจะเป็นผู้ลงทุนและให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ท่อและท่อย่อยสำหรับวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ดิน สายเคเบิลใยแก้วนำแสง

ขณะที่เอกชนจะร่วมลงทุนในโครงการ โดยจะร่วมรับผิดชอบงานออกแบบ งานก่อสร้าง งานการจัดหาแหล่งเงินทุน งานการให้บริการ และงานการบำรุงรักษา ภายในพื้นที่ของโครงการ ซึ่งจะมีระยะเวลาการดำเนินงาน 50 ปี โดยที่เอกชนจะเป็นผู้เสนอแผนแม่บทในการพัฒนาโครงการเมืองดิจิตอล ให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิตอลที่สำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยที่เอกชนผู้ดำเนินโครงการ จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคมฯ ในทันทีเมื่อการก่อสร้างทรัพย์สินแล้วเสร็จ(BTO) และกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดเมืองอัจฉริยะ และสิ่งปลูกสร้าง นอกเนื้อจากโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค จะให้เอกชนผู้ดำเนินโครงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน จนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ และให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคมฯ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ(BOT)

090861-1927-9-335x503-8-335x503-9

ขณะที่การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนภาครัฐนั้น ได้กำหนดวงเงินขั้นตํ่าที่เอกชนผู้ดำเนินโครงการจะต้องจ่ายให้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคมฯ และภาครัฐในแต่ละปี ซึ่งรวมถึงค่าเช่าหรือค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการ และส่วนแบ่งรายได้ 3% ของรายได้รวม ต้องไม่ตํ่ากว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิที่ 2,087 ล้านบาท

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,434 ระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2562 595959859