ผ่าตัดใหญ่ "ไทยสมายล์-นกแอร์" ตัวฉุด "เจ้าจำปี" บักโกรก

11 ม.ค. 2562 | 04:46 น.
| รายงานพิเศษ : ผ่าตัดใหญ่ "ไทยสมายล์-นกแอร์" ตัวฉุด "เจ้าจำปี" บักโกรก

| โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

……………….


การดำเนินธุรกิจของ "การบินไทย" ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภายใต้แผนฟื้นฟูธุรกิจ ที่ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่ 3 ถึงวันนี้เริ่มเห็นผลดีขึ้นเป็นระยะ จากเดิมที่เคยขาดทุนเป็นหลักกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ลดลงมาอยู่ในหลักพันล้านบาทต่อปี ซึ่งผลประกอบการล่าสุด ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 ขาดทุนอยู่ราว 4 พันล้านบาท ทุกอย่างถือว่าเป็นไปตามแผน ยกเว้นการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทที่การบินไทยเข้าไปร่วมลงทุน คือ "สายการบินไทยสมายล์" และ "สายการบินนกแอร์" ที่ยังคงเป็นตัวฉุดการบินไทยให้บักโกรกอยู่จนถึงทุกวันนี้


➣ ขาดทุนสะสม 1.58 หมื่นล้าน

การขาดทุนสะสมของ 2 สายการบินนี้ รวมกันปาเข้าไปกว่า 1.58 หมื่นล้านบาท เข้าไปแล้ว ผลขาดทุนในแต่ละปีก็ฉุดให้ผลประกอบการของการบินไทยตกตํ่าลงทุกปี ซึ่ง 'นกแอร์' ด้วยการบินไทยถือหุ้นอยู่ 21.57% ก็ถือว่าต้องแบกรับชะตากรรมไปตามสัดส่วนที่ถือหุ้นอยู่ แต่ 'ไทยสมายล์' ที่ถือหุ้น 100% ก็ต้องแบกรับผลการขาดทุนไปเต็ม ๆ


THAISmile22

ทั้ง ๆ ที่เนื้อแท้ของการก่อเกิดของทั้งนกแอร์และไทยสมายล์ จริง ๆ ก็เกิดจากวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ การบินไทยต้องการแขนขาที่จะเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขันในธุรกิจ "โลว์คอสต์แอร์ไลน์" เพื่อจะแข่งขันกับ "แอร์เอเชีย" มาเลเซีย ที่เข้าเปิดตลาดนี้ในไทย ด้วยการจัดตั้ง "สายการบินไทยแอร์เอเชีย" ขึ้นมา

นี่เองจึงทำให้การบินไทยต้องการสร้างไฟติ้งแบรนด์ ด้วยการตั้ง 'นกแอร์' ขึ้นมา เมื่อปี 2547 โดยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 39% แต่ไม่สามารถเข้าไปบริหารได้เต็มตัว ต่อมาก็มาตั้ง 'ไทยสมายล์' โดยการบินไทยควรถือหุ้น 100% ด้วยการถูกจัดให้เป็นการดำเนินงานภายใต้หน่วยธุรกิจหนึ่งของการบินไทย เมื่อกลางปี 2555 ก่อนจะแยกมาตั้งเป็นบริษัทลูกเมื่อปี 2557


➣ ยกเครื่องไทยสมายล์

วันนี้เมื่อการบินไทยเริ่มผงกหัว จึงถึงเวลาที่จะผ่าตัดการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยอย่างจริงจัง เพราะหนึ่งในกลยุทธ์ของการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจของการบินไทย คือ "การปรับปรุงหน่วยธุรกิจที่มีอยู่ให้ทำกำไรได้" (Profit Center) จึงจะเห็นการบินไทยขยายการลงทุนในธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ทั้งในสนามบินดอนเมืองและการร่วมลงทุนกับแอร์บัสที่สนามบินอู่ตะเภา การขยายฐานลูกค้าของครัวการบิน ที่งานเดินไปมาก คราวนี้ถึงคิว 'ไทยสมายล์' เสียที

ล่าสุด หลังจาก "คณิศ แสงสุพรรณ" ไขก๊อกลาออกจากประธานบอร์ดไทยสมายล์ ด้วยภารกิจรัดตัวในโครงการอีอีซี รวมถึงหวั่นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากการที่บริษัทแม่ของไทยสมายล์อย่างการบินไทยมีแผนลงทุนในอู่ตะเภา ดีดี "สุเมธ ดำรงชัยธรรม" เลยเข้านั่งแท่นคุมไทยสมายล์เอง และต่อไปจะใช้วิธีการบริหารจัดการที่คล้ายกับ ปตท. บริหารงานในบริษัทลูก โดยบริษัทแม่จะต้องเข้าไปดูแลและมีบทบาทในบริษัทลูกทุกบริษัท จะมีการเปลี่ยนบอร์ด ปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ และสรรหาเอ็มดีมานั่งบริหารงาน

 

[caption id="attachment_371648" align="aligncenter" width="334"] สุเมธ ดำรงชัยธรรม สุเมธ ดำรงชัยธรรม[/caption]

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า "การบริหารงานของไทยสมายล์จากนี้ ผมจะเข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดไทยสมายล์ เพื่อจะได้ซิงโครไนซ์การทำงานระหว่างการบินไทยและไทยสมายล์ได้อย่างสอดประสานกัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนสะสมของไทยสมายล์ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 8 พันล้านบาท ทำให้สายการบินมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ และไม่มีนโยบายที่จะยุบสายการบินไทยสมายล์"

ดังนั้น จากนี้ไปเราจะเห็นการทำงานระหว่างการบินไทยและไทยสมายล์ที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดรูตเน็ตเวิร์กที่เสริมกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เส้นทางบินของการบินไทย และมีความชัดเจนด้านตำแหน่งทางการตลาด ที่ผ่านมา ปัญหาของไทยสมายล์ คือ สายการบินมีระดับการขาดทุนที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20-30% ของรายได้ เพราะในอดีตตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไทยสมายล์วางตำแหน่งทางการตลาดไม่ชัดเจน บางยุคบอกว่าเป็นโลว์คอสต์ แต่บางยุคก็วางตัวว่า ไม่ใช่โลว์คอสต์ แต่เป็น "รีจินัล แอร์ไลน์" โดยที่การบินไทยไม่เคยเข้าไปควบคุมดูแลไทยสมายล์ได้เต็มตัว

ทำให้การวางแผนเรื่องของเส้นทางบินและการใช้เครื่องบินไม่สัมพันธ์กับการบินไทย จนในบางเส้นทาง การบินไทยใช้เครื่องบินผิดประเภทที่ควรจะบินไปทำการบิน เพราะการบินไทยไม่มีเครื่องบินขนาดเล็กเหมือนไทยสมายล์ ที่มีเครื่องบินแบบ A320-200 มากถึง 20 ลำ ซึ่งก็เป็นการเช่าจากการบินไทยไป

ที่สำคัญที่สุด คือ ไทยสมายล์มีปัญหาเรื่องของการจัดทำระบบการขายที่ไม่สามารถเชื่อมโยงการขายกับการบินไทยได้ โดยเฉพาะเส้นทางจากยุโรปที่การบินไทยจะขนผู้โดยสารมาต่อเครื่องบินของไทยสมายล์ ทำให้การบินไทยต้องใช้วิธีเหมาซื้อที่นั่งของไทยสมายล์เป็นล็อต เพื่อนำไปบริหารจัดการในเส้นทางที่การบินไทยมีความต้องการใช้เครื่องบินขนาดเล็กของไทยสมายล์ในการทำตลาด

เนื่องจากการใช้ระบบสำรองที่นั่งคนละระบบ โดยการบินไทยใช้ระบบสำรองที่นั่งเบ็ดเสร็จ (Globle Distribution System - GDS) ของอมาดิอุส แต่ไทยสมายล์ใช้ระบบนาวิแทร์ (NAVITAIRE) ซึ่งเป็นระบบเดียวกับการสำรองที่นั่งที่สายการบินต้นทุนตํ่าใช้บริการอยู่ ซึ่งไทยสมายล์ได้ซื้อระบบมาเป็นเวลา 5 ปี วงเงินราว 700-1 พันล้านบาท ซึ่งก็เป็นการเสียโอกาสในการขายมาหลายปี แต่โชคดีที่ตอนหลังอมาดิอุสเข้ามาซื้อระบบนาวิแทร์ ทำให้มีการเปลี่ยนสัญญามาใช้อมาดิอุสได้ และจากนี้ก็จะเห็นการบินไทยเข้ามาคุมด้านการขายและการตลาดให้กับไทยสมายล์เต็มตัว โดยที่ไทยสมายล์จะดูแลเฉพาะด้านการปฏิบัติการบิน


➣ จ่อลดสัดส่วนหุ้นนกแอร์




????????????????????????????????????

 
ในส่วนของสถานการณ์ของ 'นกแอร์' วันนี้หลังจากการบินไทยตัดสินใจไม่เพิ่มทุนในรอบแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2560 การบินไทยจึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นนกแอร์อันดับ 2 อยู่ที่ 21.57% ผลประกอบการก็ยังยํ่าแย่ ไม่เพียงมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบและติดเครื่องหมาย C ใน ตลท. จนล่าสุด บอร์ดนกแอร์มีมติเพิ่มทุนในรอบที่ 3 ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมอีก 908 ล้านหุ้น เพื่อหวังระดมทุน 2,499 ล้านบาท

เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ดีดีสุเมธยังไม่มีคำตอบ เพราะต้องใช้เวลาพิจารณาและเสนอบอร์ดการบินไทย ร่วมกันคิดว่าจะเพิ่มทุนในระลอก 3 นี้อีกหรือไม่ หรือจะเพิ่มทุนสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องจับตา เพราะการบินไทยก็คงอยากลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าการบินไทยไม่เพิ่มทุน นกแอร์ก็จะมองถึงการหาแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งการจะกู้จากสถาบันการเงินก็คงไม่ง่าย ส่วนการกู้จากกลุ่มจุฬางกูร คำถามคือ จะแบกกันจนหลังแอ่นต่อไปได้อีกถึงเมื่อไหร่

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3434 ระหว่างวันที่ 10 - 12 มกราคม 2562



595959859