พาณิชย์เตรียมรายงานผลการระบายข้าวให้ นบข. พิจารณาศุกร์นี้

08 ม.ค. 2562 | 06:56 น.
พาณิชย์เตรียมรายงานผลการระบายข้าวให้ นบข. พิจารณาศุกร์นี้ หลังใช้เวลา 3 ปี ปิดจ็อบระบายข้าวค้างสต็อกหมดเกลี้ยง 16.84 ล้านตัน ได้เงิน 1.45 แสนล้านบาท ลดภาระเก็บสตอกเดือนละ 1 พันล้าน ส่วนคดีข้าวหายจากบัญชีเกือบหนึ่งล้านตันตัน รอ สตง. ตรวจสอบ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ในวันศุกร์นี้จะรายงานผลการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. รับทราบ หลังใช้เวลาถึง 3 ปี ในการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวได้หมด ส่วนผลการขาดทุนจากโครงการนี้จะต้องรอคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวสรุปผลในเร็วนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 ถึงเดือน ธ.ค. 2561 กรมการค้าต่างประเทศได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐทั้งหมดได้ 16.84 ล้านตัน มูลค่ารวม 145,080 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การระบายข้าวครั้งนี้ได้หมด ทำให้รัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวไว้ในสต็อกเดือนละกว่าพันล้านบาท ในขณะที่ การส่งออกในปี 2561 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย มีปริมาณรวม 11.13 ล้านตัน มูลค่ารวม 5,623 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ หรือ 180,413 ล้านบาท ปริมาณลดลง 3.36% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 10% คาดว่าในปีนี้จะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน โดยมีปัจจัยบวกจากความต้องการของตลาดโลกที่มีต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบ คือ ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง โดยข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ของไทย อยู่ที่ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนเวียดนาม 382 ดอลลาร์สหรัฐฯ อินเดีย 372 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิไทย 1,142 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งสูงกว่าคู่แข่ง เนื่องจากผลผลิตในประเทศน้อย ส่วนข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 387 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ อินเดีย 382 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน นอกจากนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยลบ ส่งผลให้ข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งส่งผลให้คู่ค้าหันไปซื้อข้าวคู่แข่งเพิ่ม

 

[caption id="attachment_371617" align="aligncenter" width="503"] อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดุลย์ โชตินิสากรณ์[/caption]

นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มในส่วนของข้าวที่หลือในสต็อก หรือ ข้าวคงค้างข้าวอีก 3 แสนตัน ที่มีปัญหาไม่สามารถนำมาระบายได้ เนื่องจากติดคดีหรือทำสัญญาไปแล้วคุณภาพข้าวไม่ได้ตามกำหนด ทำให้ผู้ชนะประมูลไม่มารับมอบ จึงต้องรอให้คดีสิ้นสุดจึงจะนำมาเปิดระบายใหม่ได้ ซึ่งองค์การคลังสินค้าจะต้องเร่งดำเนินการกับผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นคู่สัญญาโดยตรง ซึ่งขณะนี้ มีหลายคดีและมีความเสียหายจำนวนมาก

ส่วนกรณีที่ข้าวหายจากบัญชี 0.94 ล้านตัน ขณะนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. อยู่ระหว่างการตรวจสอบ มีการประเมินว่า ตัวเลขที่หายไปอาจจะประมาณ 2 แสนตัน เนื่องจากการตรวจสอบในช่วงแรกอาจจะมีความคลาดเคลื่อนจากบัญชี เพราะปริมาณข้าวที่มีจำนวนมาก ซึ่ง สตง. ได้เคยแจ้งมายังกรมว่า การตรวจสอบของ สตง. เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ปี 2561

"การระบายข้าวครั้งนี้เป็นเรื่องยาก เนื่องจากตัวเลขปริมาณข้าวของ อคส. ไม่เสถียร มีเพิ่ม มีลด จึงเสียเวลาในการตรวจสอบ"

สำหรับการผลักดันการส่งออกข้าวในปี 2562 กรมฯ มีแผนขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งบุกตลาดประเทศผู้นำเข้าสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา เพื่อขยายโอกาสการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก รวมทั้งจะมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญในประเทศ ได้แก่ งานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention 2019 ซึ่งเป็นเวทีระดับสากลให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการค้าข้าวจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง วิสัยทัศน์ ตลอดจนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการค้าข้าวของโลก และเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งออกข้าวของไทยและผู้นำเข้าข้าวจากประเทศคู่ค้าสำคัญ

นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันและขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวไทย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมสำคัญในปี 2562 เช่น การสร้างความตระหนักรู้ในสินค้าเกษตรนวัตกรรม การจัดประกวดรางวัล Agri Plus Award 2019 การสร้างเครือข่ายด้านสินค้าเกษตรนวัตกรรมระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และสถานบันการศึกษา การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและขยายไปถึงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งได้เริ่มต้นแล้วที่จีน ภายใต้ชื่อกิจกรรม APi goes China

ส่วนการอำนวยความสะดวกในการส่งออกข้าว กรมฯ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมโยงการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าทุกชนิดแบบคู่ขนานภายในเดือน ม.ค. 2562 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบรับรองมาตรฐานสินค้าได้ ทั้งที่กรมฯ และที่สภาหอฯ โดยสินค้าที่จะขอใบรับรองได้ ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ ข้าวฟ่าง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาป่น ข้าวหอมมะลิไทย ปุยนุ่น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) ตรวจสอบคุณภาพ ณ สถานที่จัดเก็บสินค้าข้าวหอมมะลิไทยของผู้ส่งออก ซึ่งกรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจเพื่อกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวเยอร์ที่สังกัดบริษัทเซอร์เวย์) ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อผลการตรวจสอบถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด จึงออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ผู้ส่งออกใช้ประกอบพิธีการศุลกากร เพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต่อไป และยังจะเพิ่มการสุ่มตรวจตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ได้แก่ 1.การสุ่มตรวจข้าวหอมมะลิไทยก่อนส่งออกจากโรงสี และผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ 2.การสุ่มซื้อตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยที่บรรจุภัณฑ์ประทับตราเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดูแลคุณภาพและมาตรฐาน และทำให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวชั้นดีเลิศที่สุดของโลกต่อไป

สำหรับความคืบหน้าการส่งมอบข้าวแบบ G to G กรมฯ อยู่ระหว่างส่งมอบข้าวงวดที่ 7 ปริมาณ 100,000 ตัน ให้ COFCO Corporation (COFCO) รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2562 และได้เสนอให้ COFCO พิจารณาเจรจาราคาขายข้าวในงวดที่ 8 ปริมาณ 100,000 ตัน ซึ่งหากเจรจาตกลงราคาได้ จะถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับชาวนาและตลาดข้าวไทย เนื่องจากมีคำสั่งซื้อปริมาณมากมารองรับผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาด โดยผู้ส่งออกข้าวจะต้องไปรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา เพื่อส่งมอบภายใต้สัญญาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรได้รับมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อการค้าข้าวไทยทั้งระบบ ทั้งนี้ กรมฯ จะเร่งเจรจาให้รัฐบาลจีนตกลงราคาและนำเข้าข้าวที่เหลือให้ครบปริมาณ 1 ล้านตัน ตามสัญญาแบบ G to G ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

595959859