ฝันที่ต้องไปให้ถึงของ CareerVisa

12 ม.ค. 2562 | 08:45 น.
สร้างอาชีพที่ใช่ สร้างอิมแพ็กต์ที่โดนให้คนรุ่นใหม่ คือเป้าหมายความฝันของซีอีโอ คนเก่ง “น้องเอ็ม - ธีรยา ธีรนาคนาท” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคเรียร์วีซ่า ประเทศไทยจำกัด (CareerVisa) องค์กรกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) จากการสนับสนุนของโครงการ Banpu Champions For Change ปี4

Note8 3-pics

“เอ็ม” เริ่มเดินตามความฝัน อาชีพที่เธอค้นพบด้วยตัวเองเมื่อ 5 ปีก่อน หลังจากเรียนจบด้านไฟแนนซ์ และเข้าทำงานที่บริษัท ปตท. ตามที่ครอบครัวต้องการ จนกระทั่งได้ทุนไปเรียนเอ็มบีเอ บริหารทรัพยากรมนุษย์ และการตลาด จากเคลล็อก สหรัฐอเมริกา และมีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์คนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง Personal Core Values หรือค่านิยมส่วนบุคคล ทำให้เธอค้นพบว่า การสร้างอิมแฟ็กต์ และการสร้างสิ่งที่ทำให้คนรุ่นหลังใช้ได้ต่อเนื่อง คือสิ่งที่เธอต้องการ

และเมื่อได้มาคุยกับเพื่อน - พิน เกษมศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งแคเรียร์วีซ่า อีกคนหนึ่ง ซึ่งอยากช่วยให้นักศึกษาสถานที่ฝึกงาน (Internship) ที่มีความหมายจริงๆ เลยร่วมกันจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป ทำหลักสูตร และส่งน้องๆ ไปฝึกงานกับสตาร์ตอัพไฟแรง เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ค้นพบความต้องการและรู้ตัวเองว่าอยากทำอาชีพอะไร สนใจอะไรจริงๆ และขณะเดียวกัน เธอก็ได้ค้นพบปัญหาที่ลึกลงไปอีกว่า ปัญหาของเด็กจบใหม่ หรือเด็กที่เรียนอยู่ตอนนี้ คือ พวกเขาไม่มี
เป้าหมายอาชีพ เพราะฉะนั้น การไปฝึกงานก็ไม่ได้ช่วยอะไรสักเท่าไร

BB4A8336

“เอ็ม” และผู้ร่วมก่อตั้ง ได้ช่วยกันพัฒนาแคเรียร์วีซ่ามาเรื่อยๆ จนล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ออกแอพพลิเคชัน CareerVisa ที่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและประเมินผลว่าคุณเหมาะกับอาชีพอะไร ซึ่งแบ่งตัวช่วยออกเป็น 3 ส่วน คือ การประเมินผล (assessment) ดูว่าอาชีพที่ใช่ของเขา ผ่านการตอบแบบประเมิน ซึ่งแอพพลิเคชันจะมีข้อมูลของฝั่งมืออาชีพในแต่ละสาขา แล้วนำมาเทียบเคียง ด้วย Machine Learning Algroithm ว่าคุณจะเหมาะกับอาชีพไหนมากกว่ากัน

ส่วนที่ 2 คือ Career Coach หรือ โค้ชอาชีพ ในแต่ละสาขาอาชีพ โดยน้องๆ สามารถพูดคุยผ่านวิดีโอคอลล์ และส่วนที่ 3 คือ วิดีโอเบื้องลึกของแต่ละสาขาอาชีพ เลือกได้ 3 อาชีพ ซึ่งประเมินจากข้อมูลที่น้องๆ ทำแบบสอบถามมาแล้ว

นอกจากนี้ จะมีให้กรอกข้อมูล เป็นเรื่องของทักษะ และประเมินว่า ทักษะอะไรที่คุณควรจะมี ทักษะอะไรที่ต้องพัฒนา ระบบจะประเมินว่าตัวคุณเองเหมาะกับด้านไหนมากที่สุด โดยแสดงผลออกมาเป็นกราฟ

ยิ่งกราฟใกล้มุมมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าเหมาะกับด้านอาชีพนั้นมากที่สุด

แบบประเมิน CareerVisa เป็นแบบประเมินที่พวกเธอพัฒนาขึ้นมาเอง และยังทำเป็นหลักสูตร สอนให้กับนักศึกษาเอ็มบีเอ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ชื่อ Professional Development Design Thinking

จากจุดเริ่มต้นของแคเรียร์ดีไซน์ ที่จัดเป็นกิจกรรมเวิร์กช็อป ได้พัฒนามาสู่ดิจิตอล ทั้งเว็บไซต์ และล่าสุดคือ แอพพลิเคชัน “เอ็ม” บอกว่า เป็นเพราะเป้าหมายของเธอคือการสร้างอิมแฟ็กต์ให้เกิดขึ้น และความต้องการที่จะช่วยเด็กไทยที่ยังไม่รู้เป้าหมายของตัวเอง ได้ค้นพบงานที่ใช่และเหมาะกับทักษะความสามารถที่มี ซึ่งเธอพบว่า จากการทำวิจัยเด็กปี 4 มีกว่า 70% ที่ไม่รู้ว่าจะออกไปทำอาชีพอะไรดี

นอกจากนี้ ยังมีคนทำงานใหม่มากถึง 86% ที่น้องลาออกจากงาน และมีแค่ 14% ที่รู้สึกพอใจและแอกทีฟในการทำงาน

“คิดดูว่า ถ้าเราเพิ่ม 14% ขึ้นมาเป็น 20% GDP ของประเทศจะไปได้ไกลขนาดไหน ซึ่งถ้าทำได้จริง จากการที่เราหาข้อมูลให้เขา มันจะทำให้เขาใส่ใจกับการทำงานปัจจุบัน มากกว่าการใส่ใจกับการจองตั๋วเครื่องบินไปเที่ยว การนั่งนับวันลา การมองหางานใหม่ อยู่ตลอดเวลา เมื่องานไม่ใช่มันก็กลายเป็น คุณทำงานแล้วไม่พัฒนาตัวเองหรือเปล่า ถึงได้รู้สึกแบบนั้น...ปัญหามันวนอยู่ในอ่าง”

การทำงานในลักษณะออฟไลน์ ด้วยการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา “เอ็ม” มองว่า การสร้างอิมแฟ็กต์ หรือการขยายตัวยังไปได้ช้า การพัฒนาแคร์เรียดีไซน์มาสู่ดิจิตอลจึงเกิดขึ้น ซึ่งเธอคาดว่าจะสามารถทำให้มีคนเข้ามาสู่ระบบภายในปีมากกว่า 10,000 คน

Note 8 App 1

เป้าหมายต่อไปของเธอคือ การขยายแคเรียร์วีซ่าไปสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายๆ ประเทศที่เธอเคยไปทำงานและเคยสัมผัสมา ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือลาว เด็กก็มีปัญหาด้านการเลือกวิชาชีพเหมือนกัน

เมื่อไม่นานมานี้ แคเรียร์วีซ่า ได้เซ็นบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) กับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองใช้แอพพลิเคชันของแคเรียร์วีซ่า และต่อไปจะขยายไปสู่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

“เอ็ม” บอกว่า เธออยากให้แคเรียร์วีซ่า เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสวัสดิการของมหาวิทยาลัย รวมถึงโรงเรียนในระดับมัธยมปลาย เพราะนอกจากจะช่วยเสริมให้ครูแนะแนวและเด็กๆ ได้ข้อมูลที่ดีขึ้น หลากหลายและครอบคลุมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อทั้งเด็ก องค์กร และประเทศไปพร้อมๆ กัน แม้จะได้ไม่เห็นผลในทันที แต่ในระยะยาวจะเห็นชัดเจนขึ้นแน่นอน

การออกมาลุยตามความฝันและความชอบส่วนตัว ด้วยเป้าหมายที่ใหญ่ระดับประเทศ “เอ็ม” ยังฮึดสู้ต่อ แม้มันจะไม่ง่ายนัก แต่สิ่งที่สังเกตได้คือความมุ่งมั่นเอาจริงกับสิ่งที่ทำ

ซีอีโอ คนนี้รับรู้ว่า ในความเป็นจริงหากให้น้องๆ เลือก การเสียเงินชั่วโมงละ 500 บาทกับการปรึกษาพูดคุยกับ Career Coach เพื่อค้นหาอาชีพที่เหมาะสมของตัวเอง กับการเอาเงิน 500 ไปนั่งดูหนัง กินชาไข่มุก เธอรู้ดีว่า เด็กๆ จะเลือกทำอะไรก่อน...ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างใหม่ และผลที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เห็นแบบทันที ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต...นี่คือความท้าทายที่ใหญ่มากของเธอ

“เอ็ม” บอกว่า เธอไม่มีเป้าหมายที่จะเป็น Serial Entrepreneur หรือผู้ประกอบการที่สร้างบริษัทใหม่ โดยไม่ติดอยู่กับการบริหารบริษัทเดิม โดยมอบหมายให้ผู้อื่นบริหารแทน หรือขายบริษัทให้นักลงทุนเพื่อไปสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ต่อ ...เอ็มคิดว่านี้คือ อาชีพที่ใช่ของเรา และเราอยากสร้างอิมแฟ็กต์เป้าหมายของเราคือ การทำให้คนรู้ว่าอาชีพที่ใช่ของเขาคืออะไร

หากเป้าหมายของผู้ร่วมก่อตั้งแคเรียร์วีซ่าคนนี้ สัมฤทธิผล เชื่อได้ว่าจะเกิดอิมแฟ็กต์ดีๆ ขึ้นกับประเทศไทยอย่างมหาศาลแน่นอน

หน้า 22-23 ฉบับที่ 3,434 วันที่  10 - 12 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859