กฎเหล็ก กกต. ห้าม ‘เซเลบ’ ช่วยหาเสียง

08 ม.ค. 2562 | 05:51 น.
 

ขอดเกล็ด-02 TP16-7 กกต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบกกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.

เนื้อหาใจความหลักระบุถึง “ข้อปฏิบัติ-ข้อห้าม-ข้อพึงระวัง” ที่เหล่าผู้สมัครพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “ทำได้-ไม่ได้”

อาทิ กำหนดให้ผู้สมัครส.ส. สามารถแจกเอกสาร วีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในเขตชุมชน สถานที่ และงานพิธีต่างๆ รวมถึงจัดรถ เวทีหาเสียงและใช้เครื่องขยายเสียงช่วยในการหาเสียงได้

แต่เอกสาร วีดิทัศน์ ประกาศการโฆษณา และป้ายโฆษณาที่ใช้ติดตั้งบนรถและเวทีหาเสียงนั้นสามารถระบุชื่อ รูปภาพและหมายเลขผู้สมัคร ชื่อสัญลักษณ์ นโยบายของพรรค คติพจน์ คำขวัญ ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้สมัคร พรรคการเมืองและนำภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรค ลงโฆษณาหาเสียงได้เท่านั้น
ขอดเกล็ด-03 โดยต้องแจ้งรายละเอียดให้ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบภายใน 10 วัน หลังปิดการรับสมัคร การดำเนินการของรถและจัดเวทีหาเสียง ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น

กกต.ยังไฟเขียวให้หาเสียงผ่านจดหมาย สิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำเอกสารที่กากบาทลงในช่องคะแนนเลือกตั้งให้กับตนเองได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะหรือสีคล้ายกับบัตรเลือกตั้ง

ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผู้ช่วยหาเสียงในเขตได้ไม่เกิน 20 คน ส่วนพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ มีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนเขตที่พรรคนั้นส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต

หากพบการฝ่าฝืน ไม่เป็นไปตามกฎกติกาที่วางไว้ กกต.กำหนดให้ ผอ.กกต.จังหวัด แจ้งให้ผู้สมัครแก้ไขภายใน 5 วัน หากไม่ดำเนินการ กกต.สามารถรื้อถอน-ปลดออก หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัคร และนำมาเป็นเหตุสืบสวนวินิจฉัยได้ด้วย
090861-1927-9-335x503-8-335x503-9 เพิ่มเพื่อน

กกต.ยังเปิดกว้างให้หาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกประเภท ทั้ง ยูทูบ เว็บไซต์ แอพพลิเคชัน อีเมล์ และเอสเอ็มเอส ซึ่งผู้สมัครสามารถหาเสียงด้วยตนเอง หรือว่าจ้างบุคคล นิติบุคคลให้ดำเนินการได้ โดยแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาการหาเสียง ให้ ผอ.กกต.จังหวัดทราบ ตั้งแต่วันสมัครหรือก่อนหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้สมัครหรือสมาชิกพรรค หากต้องการใช้สื่อโซเชียลหาเสียงให้กับผู้สมัครใด ต้องแจ้งชื่อ-สกุล นิติบุคคล หรือเครื่องหมายใดๆ ที่บ่งบอกเจาะจงตัวบุคคลที่ดำเนินการได้ และหากมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เกินกว่า 10,000 บาท ต้องแจ้งให้ผู้สมัครพรรคการเมืองและให้แจ้งต่อ ผอ.กกต.จังหวัด เลขาฯ กกต.ทราบ และให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร

สำหรับ “ข้อห้าม” กกต.กำหนดไว้ อาทิ ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง หากพบใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือนำสถาบันฯ มาเกี่ยวข้อง กกต.สามารถสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง และลบข้อมูลนั้นได้

ถ้าไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด เลขา กกต.สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการ ดำเนินการ โดยผู้สมัครพรรคการ เมืองนั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ลบข้อมูล ไม่สามารถลบล้างความผิดที่ได้กระทำสำเร็จแล้วได้ กกต.สามารถนำมาสืบสวนและวินิจฉัยได้ด้วย

นอกจากนี้ ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดให้ผู้ประกอบอาชีพ เจ้าของกิจการวิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา หรือนักแสดง นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถทางวิชาชีพเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงให้แก่ตน แต่ถ้าผู้สมัครมีความรู้ความสามารถทางศิลปะเป็นของตนเองใช้หาเสียงให้กับตัวเองได้ แต่ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง

กรณีการแจกจ่ายเอกสารที่เกี่ยวกับการหาเสียง ห้ามใช้วิธีการวางหรือโปรยในที่สาธารณะ ห้ามใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม และห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามประเพณี

 “ข้อห้าม” เหล่านี้ผู้สมัคร หรือพรรค การเมืองใด จะฝ่าฝืน จนถูกเตือน-ลงโทษหรือไม่ ต้องคอยดูกัน...

| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3433 หน้า 14 ระหว่างวันที่ 6-9 ม.ค.2562
595959859