คปภ. ผนึก ส.ประกันภัย ออก 6 มาตรการเร่งด่วน ช่วยผู้ประสบภัยพายุ 'ปาบึก'

07 ม.ค. 2562 | 14:17 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คปภ. ประชุมด่วนกับสมาคมประกันภัย ผนึกกำลังโดยออก 6 มาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก



S__8602378
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุพายุโซนร้อนปาบึกพัดถล่มทางภาคใต้และได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.เมือง และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยผู้ประสบภัยในครั้งนี้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 เลขาธิการ คปภ. ได้จัดประชุมระหว่างคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย โดยได้ประชุมวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับสำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) ด้วย เพื่อร่วมกันออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูด้านการประกันภัย หลังจากที่พายุปาบึกได้ผ่านพ้นไป ซึ่งจากการรับฟังข้อมูลในพื้นที่และการระดมความคิดเห็น ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการเยียวฟื้นฟู 6 มาตรการ ดังนี้


090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503

มาตรการแรก มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ภาค 8 ภาค 9 และสำนักงาน คปภ. จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยในพื้นที่ เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงความเสียหายในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีด้วย

มาตรการที่ 2 ขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต และนายหน้าประกันวินาศภัย โดยจะออกประกาศขยายการต่ออายุไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุด แต่ไม่เกิน 30 มิ.ย. 2562

มาตรการที่ 3 ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันชีวิตให้กับผู้เอาประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2562 ถึงวันที่ 3 มี.ค. 2562 เพื่อให้ขยายไปอีก 60 วัน ในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตสิ้นผลบังคับ หากผู้เอาประกันภัยขอต่ออายุ หรือ กลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ฯ ภายใน 6 เดือน ให้บริษัทงดการตรวจสุขภาพและยกเว้นดอกเบี้ยในระหว่างนั้น โดยจะออกเป็นคำสั่งนายทะเบียน เพื่อขยายระยะเวลาดังกล่าว

มาตรการที่ 4 กรณีรถยนต์และทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม ให้ยึดถือแนวทางการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์ที่เคยปฏิบัติเกี่ยวกับการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554

มาตรการที่ 5 ประสานขอข้อมูลด้านการประกันภัยที่มีการทำไว้กับสมาคมธนาคารไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เกิดความรวดเร็วในกรณีที่ประชาชนมีการทำประกันภัย เช่น การทำประกันภัยผ่านบัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต

มาตรการที่ 6 การฟื้นฟูในรูปแบบของ CSR โดยมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ภาค 8 และภาค 9 สำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนและขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งสำนักงาน คปภ. นำโดย เลขาธิการ คปภ. จะร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ลงพื้นที่ทำ Big Cleaning และจัดคาราวานให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ในกลุ่มเป้าหมาย ในวันที่ 9 ม.ค. 2562

อนึ่ง นายทะเบียนได้ลงนามในประกาศ สำนักงาน คปภ. เรื่อง การขอขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัยฯ ตามมาตรการที่ 2 และคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง การผ่อนผันเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตในเขตพื้นที่ประสบภัยฯ ตามมาตรการที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562

"สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย มีความห่วงใยประชาชนและผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการทำประกันภัยที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งให้มีการตรวจสอบว่า ได้ทำประกันภัยประเภทใดไว้บ้าง เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186" เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก