"ไม่ง่าย-ส่อยื้อ" !! เรียกค่าเสียหายจำนำข้าว 3 แสนล้าน

07 ม.ค. 2562 | 11:00 น.
| รายงานพิเศษ : "ไม่ง่าย-ส่อยื้อ" !! เรียกค่าเสียหายจำนำข้าว 3 แสนล้าน

| โดย ศรีอรุณ จังติยานนท์

....................

นโยบายประชานิยม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอย่าง "ข้าว" ถูกนำมาใช้ทุกยุคทุกสมัย เป้าหมายเพื่อเป็นฐานเสียงสนับสนุนรัฐบาล วันที่ 23 ส.ค. 2554 รัฐบาลในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาว่า นโยบายรับจำนำข้าวเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วน ที่พรรคเพื่อไทยให้สัญญาไว้กับประชาชนเมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง ที่ต้องเดินหน้า โดยการันตีรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่ตันละ 15,000 บาท สูงกว่าราคาตลาดถึง 50% ซึ่งต่อมาโครงการได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติในวงกว้าง


ยิ่งลักษณ์

ที่มาฟ้อง 3 แสนล้าน

ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เริ่มในปีการผลิต 2554/2555 ต่อเนื่องมาถึงปี 2556/2557 พบว่า ได้ใช้เงินไปราว 8.84 แสนล้านบาท แม้ว่าจะเม็ดเงินมหาศาล แต่ด้านหนึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากชาวนาผู้ที่ได้รับประโยชน์ สามารถลืมตาอ้างปากได้ แต่อีกด้านมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ที่ถูกมองว่าเป็นโครงการที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างโจ๋งครึ่ม รวมทั้งทำให้การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลขยายฐานกว้างออกไป จนมีการยื่นหนังสือร้องเรียนและฟ้องร้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเวลาต่อมา ซึ่งต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาลับหลัง (หลังยิ่งลักษณ์หนีออกนอกประเทศ) โทษฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีคำพิพากษาจำคุกอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รอลงอาญา รวมถึงลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด ทั้งนักการเมืองและข้าราชการที่ทำงานสนองนโยบายแบบสุดลิ่ม โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ปล่อยให้ลิ่วล้อต้องก้มหน้ารับชะตากรรมในเวลานี้


ข้าวเน่า5

ขณะที่ กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 1351/2559 เรียกชดใช้ค่าเสียหายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นจำนวนเงิน 35,717 ล้านบาท โดยตัวเลขนี้คิดคำนวณมาจากผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว และนำผลขาดทุนดังกล่าวมาคิดเป็นค่าเสียหายอีกทอดหนึ่ง ซึ่งคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าวมาจากพื้นฐานการกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และล่าสุด แม้ว่าโครงการรับจำนำข้าวจะจบลงตั้งแต่ปี 2557 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าวนั้นมีจำนวนมาก เฉพาะที่องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. ดูแลอยู่นั้น เป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่า 3 แสนล้านบาท จากคู่สัญญาของ อคส. ทั้งเจ้าของคลังที่รัฐบาลเช่าฝากเก็บข้าวสาร และบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) กระทำผิดสัญญา เช่น ทำข้าวหาย ข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวผิดประเภท ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้อัยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก่อนหมดอายุความ หลังจากที่ นายวิษณุ เครือนาม รองนายกรัฐมนตรีได้เร่งให้ อคส. ส่งเรื่องให้อัยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าวภายใน ธ.ค. 2561


เอกชนเชียร์เอาผิด

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ โดย อคส. ได้ส่งเอกสารคู่สัญญาของ อคส. ทั้งเจ้าของโกดังที่รัฐเช่าเพื่อฝากเก็บข้าวในสต๊อก และบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ ที่กระทำผิดและทำผิดสัญญาในโครงการรับจำนำเข้าเปลือกตั้งแต่ปี 2551/2552, ปี 2554/2555, ปี 2555/2556 และปี 2556/2557 จนทำให้รัฐเกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาท ที่ได้มีการส่งเอกสารให้กับพนักงานอัยการแล้วนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นตัวอย่างให้เอกชน หรือ ผู้ที่คิดจะกระทำผิดในอนาคต ต้องคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า บริษัทเซอร์เวเยอร์ที่ตั้งขึ้นมาในช่วงโครงการรับจำนำข้าวจะถูกตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ บางแห่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท

"การฟ้องร้องค่าเสียหายทางแพ่งคงไม่จบภายในปีนี้ เพราะการฟ้องค่อนข้างใช้เวลานาน และต้องฟ้องถึง 3 ศาล ซึ่งกว่าจะจบกระบวนการต้องใช้เวลาหลายปี แต่ที่สำคัญ คือ สิ่งที่ผู้กระผิดได้สร้างความเสียหายให้กับรัฐอย่างมหาศาลในการเล่นแร่แปรธาตุในเรื่องคุณภาพข้าว การที่รัฐเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเรื่องที่ทำถูกต้อง"


ข้าวเน่า 3

ลุ้นอัยการเร่งส่งฟ้อง

ส่วนนางอินทิรา โภคปุณยารักษ์ ผู้อำนวยการ อคส. ระบุว่า ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวทันตามกำหนดเวลา โดยความเสียหายทั้งหมดมีทั้งสิ้น 246 สัญญา เป็นสัญญาฝากเก็บข้าวในคลัง 167 สัญญา และสัญญากับเซอร์เวเยอร์อีก 79 สัญญา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งกรณีข้าวหาย ข้าวเสื่อมคุณภาพ และข้าวผิดประเภท ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบตามสัญญา

ทั้งนี้ อคส. ได้ทยอยส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 และวันที่  21 ธ.ค. 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างอัยการประสานขอข้อมูลเพิ่มเติม โดยได้กำชับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาส่งเรื่องมาให้พิจารณารายละเอียด เพื่อลงนามความถูกต้องอย่างน้อย 3 วัน ก่อนครบกำหนดเพื่อส่งข้อมูลเพิ่มให้อัยการ ส่วนกระบวนการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายผู้เกี่ยวข้องนั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการตามกฎหมาย ทั้งนี้ อัยการจะต้องเร่งส่งฟ้องศาลก่อนแต่ละคดีจะทยอยหมดอายุความตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. – 5 ส.ค. 2562 สำหรับความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว แบ่งเป็น โครงการรับจำนำข้าว ปี 2551-2552, ปี 2554/2555, ปี 2555/2556 และปี 2556/2557 ส่วนคดีอาญาอีก 884 คดี ทางสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สํานักงาน ป.ป.ท. ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทยอยส่งฟ้องศาลอย่างต่อเนื่อง

 

[caption id="attachment_370659" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ขณะที่ แหล่งข่าววงการข้าว ระบุว่า การฟ้องร้องค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมหาข้อมูลเพื่อฟ้องร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งแนวโน้มอาจจะลากยาวไปถึงผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลชุดที่แล้ว รวมถึงข้าราชการและนักการเมือง ส่วนกระแสข่าวที่มีผู้อยู่เบื้องหลังในโครงการนี้ยังลอยนวลนั้น ซึ่งทุกฝ่ายโฟกัสไปที่ "เจ๊" คนหนึ่ง ซึ่งได้หนีออกนอกประเทศไปแล้ว ขณะนี้ยังไม่สามารถตามตัวได้

สรุปมหากาพย์จำนำข้าว รวมถึงคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจีเก๊ ล็อตที่ 2 ยังเป็นละครชีวิตที่ต้องติดตาม จากใกล้ถึงภาคอวสานเข้ามาทุกขณะแล้ว

595959859