"มานะ" แฉบัญชีส่วยภูเก็ต! อ่วมผู้ประกอบการจ่าย 3.7 หมื่น/แห่ง/เดือน

07 ม.ค. 2562 | 06:02 น.
"มานะ" เลขาองค์กรต้านคอร์รัปชัน เขียนบทความแฉส่วย จ.ภูเก็ต เผย สถานบันเทิงต้องจ่ายร่วม 3.7 หมื่นบาทต่อเดือน

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เขียนบทความเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ : 'ส่วย' พูดไปสองไพเบี้ย นิ่ง-เสียประโยชน์ชาติ โดยชี้ให้เห็นถึงการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ใน จ.ภูเก็ต พร้อมแนบบัญชีส่วย ที่ระบุว่า ได้มาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บัญชีดังกล่าวมีการเขียนตัวเลขจ่ายไปยังหลายหน่วยงาน ใน จ.ภูเก็ต

นายมานะยังได้กระทุ้งไปที่นโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง ที่ต้องการเห็นการปราบปรามการจ่ายส่วยอย่างจริงจัง

บทความของนายมานะ ระบุว่า "... ทุกวันนี้สถานบันเทิงผับ–บาร์ในภูเก็ตต้องจ่ายส่วยแห่งละ 37,300 บาทต่อเดือน ให้กับคนที่อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 25 หน่วย และหากสถานที่แห่งนั้นมีลูกจ้างเป็นคนต่างด้าวที่ทำงานอย่างผิดกฎหมาย ก็ต้องจ่ายรายหัวอีก หัวละ 9,100 บาท เช่นถ้ามี 3 คน ก็ต้องจ่าย 27,300 บาท ประเมินว่าทั่วเกาะภูเก็ตมีสถานบันเทิงราว 1,000 แห่ง เท่ากับมีส่วยรายเดือนรวมกันมากถึง 37 ล้านบาท ไม่รวมส่วยแรงงานต่างด้าวกว่า 27 ล้านบาทอีกต่างหาก (**ดูรายละเอียดในภาพประกอบ)

ประเทศไทยไม่มีทางเอาชนะระบบส่วยได้จริงหรือ ...

ข้อมูลจากข้าราชการผู้ใหญ่ที่ผมนับถือกรุณาส่งมาให้นี้ชัดเจนมาก แต่นี่อาจเป็นเพียงการเปิดโปงบัญชีส่วยอีกครั้งที่ทุกคนพูดถึงและสาปแช่ง แต่ทำอะไรไม่ได้ จนผู้คนมึนงงว่า "ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงทำผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งและเป็นขบวนการได้เช่นนี้"

มองกลับไปทุกยุคสมัย เราได้เห็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจ และอธิบดีหลายกรม ประกาศว่าจะเล่นงานพวกรีดไถอย่างจริงจัง ลงโทษเด็ดขาดรุนแรง ส่วยต้องหมดไป ตามด้วยคำพูดว่า ใครพบเห็นหรือมีข้อมูลอะไรให้แจ้งมา สิ่งนี้สะท้อนว่า ส่วยเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนรับรู้ว่าต้องรีบเอาชนะให้ได้ เพราะประชาชนไม่พอใจ แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจ แต่ละคนไม่เคยทำ ก็คือ ออกมาบอกให้สังคมรู้ชัด ๆ ว่า เขาลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง และต่อไปจะทำอะไร อย่างไร รวมทั้งถามความเห็นประชาชนบ้าง ว่า อยากให้พวกเขาทำอะไรและคนไทยพร้อมจะช่วยอะไร

อะไรทำให้วงจรส่วยคงอยู่ได้ ...

ทราบกันดีว่า การทุจริตมี "วงจรยาว" คือ นอกจากแต่ละคนต้องหาความร่ำรวยใส่ตนแล้ว ยังต้องส่งส่วยให้เจ้านายตามลำดับชั้น ใครจะมาเป็นใหญ่หรือรักษาตำแหน่งไว้ ล้วนมีต้นทุนราคาแพง หรือ ต้องหาทางตอบแทนผู้ใหญ่ที่สนับสนุน มีหลายกรณีที่พวกเขาจำต้องแบ่งปันกับหน่วยงานอื่นด้วย ส่วนคนจ่ายสินบนก็เอาง่าย ยอมจ่าย หรือเป็นฝ่ายเสนอเงินให้เขา เพราะตัวเองทำบางอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่ ส่วนใหญ่แม้ไม่ผิดอะไรก็ยอมจ่ายเพื่อตัดปัญหา ไม่กล้าสู้ หรือเพราะกลัวเดือดร้อนถูกกลั่นแกล้ง


ภาพ

สภาพนี้จะเรียกว่า ขูดรีดหรือการหาผลประโยชน์และการพึ่งพากันก็แล้วแต่

มีงานวิชาการจำนวนมากระบุว่า สาเหตุที่ส่วยดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้ เป็นเพราะเราขาดมาตรการตรวจจับข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ ไม่มีการปกป้องประชาชนและสื่อมวลชนที่ขุดคุ้ยขัดขวางพฤติกรรมชั่ว สังคมไม่เคารพความถูกต้อง วัฒนธรรมนับถือคนรวยคนมีอำนาจ นักการเมืองไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหา มัวแต่มุ่งหาประโยชน์และสร้างเครือข่ายของตน กลไกตรวจสอบและรักษาความยุติธรรมของรัฐร่วมฉ้อฉลเสียเอง ระบบเส้นสาย การซื้อขายตำแหน่ง ข้าราชการมีอำนาจและโอกาสใช้ดุลยพินิจมากเกินไป โดยที่กฎหมายมีมากจนเฟ้อ แม้หลายเรื่องจะล้าหลังหรือไร้ประโยชน์แล้ว ก็ยังบังคับใช้อยู่ เป็นต้น

ส่วยเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ต้องแอบทำกันลับ ๆ ในประเทศทั่วโลก ไม่ใช่พฤติกรรมที่พบเห็นได้ง่าย ๆ ในวิถีชีวิตอย่างที่เห็นในบ้านเราทุกวันนี้ แล้วเราก็ต้องทนอยู่กับมันไปเรื่อย ๆ อย่างนี้รับไม่ได้จริง ๆ ครับ

ส่วยจึงเป็นอีกปัญหาคอร์รัปชันขั้นวิกฤติที่พรรคการเมืองและนักการเมืองควรเสนอต่อประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้ง ว่า มีนโยบายในการปราบปรามอย่างไร ..."

ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
7/1/62

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว