WTO เตือน! หลากปัจจัยเสี่ยง ทำการค้าโลกปีหมูเจ็บหนัก

06 ม.ค. 2562 | 09:45 น.
นักเศรษฐศาสตร์ประจำองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เตือนการค้าโลกปี 2019 จะตกอยู่ในภาวะลำบากสาหัส เปรียบเหมือนคนที่ได้รับแผลเหวอะหวะทั้งตัว

นายโรเบิร์ท คู้ปแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการค้าโลก ซึ่งเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ว่า ในปีนี้ (2562) แนวโน้มดูมีความเสี่ยงมากขึ้น และหลายดัชนีหลักก็ชี้ไปในทิศทางที่ว่า การค้าโลกจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด "ถ้ามองดูดัชนีหลัก ๆ จะเห็นได้เลยว่า แนวโน้มแผ่วลงอย่างต่อเนื่อง แทบจะเหมือนกับศพที่ตายเพราะแผลเหวอะนับพันแผล" โดยไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดี่ยว ๆ โดด ๆ แต่เป็นหลากหลายปัจจัยที่เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ตลาดที่เริ่มมีความวิตกกังวลมากขึ้นว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอตัวลง และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงเท่านั้น นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ยังระบุถึงความวิตกกังวลของนักลงทุนและภาคธุรกิจเกี่ยวกับการเผชิญหน้าทางการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ยังจะมีผลต่อเนื่องมาในปีนี้ ขณะที่ บริษัทที่ขนส่งสินค้าและพัสดุอย่าง 'เฟดเอ็กซ์' (FedEx) ก็ออกมายอมรับว่า กำลังได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง


WTO2



ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ดับบลิวทีโอได้คงตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับการขยายตัวของการค้าโลก (ในเชิงปริมาณสินค้า) สำหรับปี 2561 ไว้ที่อัตรา 3.9% ซึ่งลดลงจาก 4.7% ในปี 2560 และคาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง เหลือเพียง 3.7% ในปี 2562 นี้
โดยนายคู้ปแมน กล่าวว่า ด้วยภาวะปัจจัยความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะต้องมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราขยายตัวของปริมาณการค้าโลกลงอีกครั้งในช่วงต้นปีนี้

หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดรั้งการขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้ ได้แก่ แผนการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน มูลค่ากว่า 588,000 ล้านดอลลาร์ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลก การติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนีการค้าหลัก ๆ ของดับบลิวทีโอ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจากทั่วโลก รวมทั้งการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางเรือ ต่างชี้ไปในทิศทางที่ว่า การขยายตัวของการค้าโลกจะชะลอตัวลง "ถ้าเราคาดหวังว่า มันจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ทิศเดียวที่จะไป ก็คือ ทิศทางลง" นายคู้ปแมนฟันธงเมื่อพูดถึงแนวโน้มการค้าในปี 2562 นี้ และยังชี้ให้เห็นว่า ความวิตกกังวลกำลังแสดงตัวให้เห็นในทุก ๆ ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้ออกมาปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองลงแล้ว สหภาพยุโรป (อียู) เองก็น่าเป็นห่วง และจีนก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน "สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องผลกระทบทางตรงจากการตอบโต้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันในสงครามการค้าที่สหรัฐฯ เข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนใหญ่เป็นการทำสงครามการค้ากับจีน แต่กับประเทศอื่น ๆ ก็มี เช่น แคนาดาและอียู"


 

[caption id="attachment_370934" align="aligncenter" width="503"] ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา[/caption]

ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนนั้น เป็น 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ตามลำดับ สองประเทศรวมกันมีสินค้าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนเกือบ ๆ 40% ของมูลค่าการค้าโลก แต่มูลค่าการค้าที่ทั้งสองประเทศซื้อขายระหว่างกันเองนั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3.2% ของการค้าโลก เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่แท้จริง ก็คือ การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้จะมีผลต่อภาคธุรกิจและความรู้สึกของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด ซึ่งนั่นก็จะส่งผลต่อความอยากจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค มีบางเหตุการณ์ที่เริ่มสะท้อนให้เห็นแล้วว่า การลงทุนของภาคธุรกิจกำลังได้รับแรงกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากผู้บริโภคทั้งในสหรัฐฯ และจีนเริ่มชะลอการซื้อลงแล้ว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503