อุตุฯ ชี้! สถานการณ์น้ำภาคใต้ปกติ หลังพายุ 'ปาบึก' เคลื่อนตัวออกสู่ทะเล

06 ม.ค. 2562 | 08:50 น.
อุตุฯ ประกาศสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้หลายพื้นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ หลังพายุ 'ปาบึก' เคลื่อนตัวออกสู่ทะเลอันดามันไปแล้ว และยังคงเร่งระบายน้ำออกจากในพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างต่อเนื่อง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดี กรมชลประทาน กล่าวว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ (5 ม.ค. 62) พายุดีเปรสชัน 'ปาบึก' (PABUK) บริเวณทะเลอันดามัน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความอากาศต่ำกำลังแรง มีแนวโน้มว่าจะอ่อนกำลังลงอีก และสลายตัวไปตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดน้อยลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงในบริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำได้นั้น

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบัน (6 ม.ค. 62) ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ระดับน้ำที่ท่วมขังในตัวเมืองเริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในถนนซอย ประมาณ 20-30 เซนติเมตร บริเวณถนนพัฒนาคูขวาง ระดับน้ำลดลงเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ส่วนระดับน้ำในคลองนครน้อยหน้าเมือง มีระดับต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 8 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สำหรับพื้นที่รอบนอกและพื้นที่ลุ่มต่ำยังคงเร่งสูบน้ำและผลักดันน้ำ เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำคลองสายหลัก ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่งทั้งหมด คาดว่าสถานการณ์ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในเย็นวันนี้ ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 1-2 วัน


อุตุ1

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอรอบนอกของ จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบัน ที่ อ.ปากพนัง เนื่องจากอยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำยกตัวสูงขึ้นตามระดับน้ำทะเล ทำให้สามารถเปิดบานระบายน้ำได้ในช่วงเวลาน้ำลงเท่านั้น ทำได้เพียงเดินเครื่องผลักน้ำและเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยคาดว่า สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 10-15 วัน

ส่วนที่ อ.ทุ่งสง และ อ.หัวไทร สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ อ.บางสะพาน มีฝนตกในพื้นที่ตอนบน ประกอบกับมีคลื่นลมแรงและน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำของ อ.บางสะพาน คาดว่าระดับน้ำสูงสุดที่สถานี GT.20 ระดับ 6.17 เมตร (รทก.) หรือ สูงกว่าตลิ่งประมาณ 17 เซนติเมตร ในช่วงเวลา 09.00 น.


อุตุ2

วันนี้ (6 ม.ค. 62) คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเย็น ที่ จ.ชุมพร มีน้ำล้นตลิ่งคลองชุมพรที่สถานี x201A สูงสุดเมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ (5 ม.ค. 62) สูงกว่าตลิ่ง 1.91 เมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณสี่แยกปฐมพร ถนนเพชรเกษม และเมื่อเวลา 06.00 น. ที่ผ่านมา ระดับน้ำยังคงสูงกว่าตลิ่งประมาณ 36 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับยังคงมีน้ำทะเลหนุนสูง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มอีก ระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่งในช่วงบ่ายของวันนี้ (6 ม.ค. 62)

ส่วนที่ จ.ปัตตานี สถานการณ์น้ำท่าลุ่มน้ำปัตตานีระดับน้ำวันนี้ (6 ม.ค. 62) อยู่ที่ 2.33 เมตร (รทก.) ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 33 เซนติเมตร เอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณชุมชนบ้านบริดอ อ.เมือง ก่อนเข้าเมืองปัตตานี คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้ เช่นเดียวกับในพื้นที่ จ.ตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล สถานการณ์น้ำยังปกติ ระดับน้ำท่าต่าง ๆ ต่ำกว่าตลิ่งและมีแนวโน้มลดลง

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน 'ปาบึก' จากการวิเคราะห์รายพื้นที่ พบว่า ยังคงต้องพร่องน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีช่องว่างมากขึ้นไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างฯ จากฝนที่จะตกหนักลงมาอีกในระยะต่อไป ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำอ่างขนาดกลาง 7 แห่ง ได้แก่ จ.เพชรบุรี 2 แห่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2 แห่ง จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง และ จ.กระบี่ 2 แห่ง


อุตุ3

นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 26 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอ่างเก็บน้ำรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 23 แห่ง ดังนี้ จ.เพชรบุรี 2 แห่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ 6 แห่ง, จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง, จ.ระนอง 1 แห่ง, จ.นครศรีธรรมราช 4 แห่ง, จ.ตรัง 2 แห่ง, จ.พัทลุง 2 แห่ง, จ.สงขลา 2 แห่ง, จ.กระบี่ 2 แห่ง และ จ.นราธิวาส 1 แห่ง

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

[caption id="attachment_370659" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]