'ปาบึก' ลดระดับเหลือเป็นพายุ 'ดีเปรสชั่น'

04 ม.ค. 2562 | 12:48 น.
S__333914117
วันนี้ (4 ม.ค. 62) เวลา 19.00 น. นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ กองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ปฏิบัติการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยสถานการณ์พายุโซนร้อน 'ปาบึก' (Pabuk) และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากพายุเคลื่อนขึ้นฝั่งแล้ว ทำให้เกิดคลื่นลมแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร น้ำทะเลหนุนเข้าท่วมถนน เขตชุมชน ต.ขนาบนาค อ.หัวไทร อ.เมือง อ.ปากพนัง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งลมกระโชกแรง มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายบริเวณกว้าง สำหรับทิศทางการเดินทางของพายุโซนร้อน 'ปาบึก' นั้น


S__333914128

กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) แจ้งว่า เวลา 17.45 น. ศูนย์กลางของพายุอยู่บริเวณ อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็ว 13 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและจะเคลื่อนที่ปกคลุม จ.สุราษฎร์ธานี ในคืนนี้ (4 ม.ค 62) ส่งผลให้เกิดฝนตกเป็นบริเวณกว้างและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค. 2562 ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ดังกล่าวลดลงและเป็นฝนฟ้าคะนอง จากนั้นพายุจะเคลื่อนตัวผ่านภาคใต้ตอนบนผ่านลงไปสู่ทะเลอันดามัน ในวันที่ 6 ม.ค. 2562 โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามัน คลื่นสูง 2-3 เมตร


S__333914129

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุดังกล่าวยังคงต้องเฝ้าระวังคลื่นลมแรงและระดับน้ำยกตัว ตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น. (ในวันนี้) โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย บริเวณ จ.ชุมพร ที่ อ.ละแม อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก อ.สวี อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ที่ อ.ท่าฉาง อ.ดอนสัก อ.กาญจนดิษฐ์ อ.พุนพิน อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.เกาะสมุย อ.เกาะพะงัน อีกทั้งยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง เนื่องด้วยขณะนี้หลายพื้นที่ใน จ.นครศรีธรรมราช มีฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตร


S__20029447

บริเวณ อ.เมือง อ.เชียรใหญ่ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.พรหมคีรี อ.จุฬาภรณ์ อ.สิชล อ.ลานสกา อ.ทุ่งสง อ.พิปูน ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำหลากจากเทือกเขาหลวงไหลหลากเข้าสู่ชุมชนบริเวณคลองท่าดี อ.เมือง คลองกลาย อ.ท่าศาลา คลองท่าเลา อ.ทุ่งสง และพื้นที่ต้นแม่น้ำตาปี อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้ง จ.สุราษฎร์ธานี บริเวณ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก อ.บ้านนาสาร อ.ไชยา อ.ท่าชนะ อ.วิภาวดี อ.พนม และ อ.บ้านตาขุน ด้วย ซึ่ง สทนช. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งที่อาจเกิดขึ้น และบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้น้อยที่สุด

 

[caption id="attachment_369435" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]