ส่องสินค้าเกษตรไทย ปี 62 'ข้าว' รุ่ง! "ยาง-ปาล์ม-มัน" เหนื่อยต่อ

06 ม.ค. 2562 | 07:02 น.
สินค้าเกษตรไทยยังตั้งอยู่ความเสี่ยง! จากผลิตได้เกินความต้องการบริโภคในประเทศ ต้องพึ่งพาตลาดส่งออก ซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูง ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศยังคงผันผวน สำหรับทิศทางแนวโน้มปีนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ... "ฐานเศรษฐกิจ" หยิบยกบทวิเคราะห์คาดการณ์ทิศทางแนวโน้มสินค้าเกษตรหลักของไทย ปี 2562 ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบมีทั้งแนวโน้มที่สดใสและยังต้องเหนื่อยต่อ


➣ 
ส่งออกข้าวไทยยังสดใส

ใน "สินค้าข้าว" กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา คาดว่า ปี 2561/2562 มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั่วโลกกว่า 1,012 ล้านไร่ ผลผลิต 487.76 ล้านตันข้าวสาร และผลผลิตต่อไร่ 720 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560/2561 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวกว่า 1,010 ล้านไร่ ผลผลิต 491.52 ล้านตันข้าวสาร และผลผลิตต่อไร่ 726 กิโลกรัม พบว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น 0.20% ส่วนผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ ลดลง 0.76% และ 0.83% ตามลำดับ ส่วนการบริโภคข้าวคาดว่าจะมีปริมาณ 49.73 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 49.03% เทียบจากปีก่อน


TP13-3433-A

สำหรับการส่งออกข้าวของไทยในปี 2562 คาดจะส่งออกได้ประมาณ 10.50-11.00 ล้านตันข้าวสาร ใกล้เคียงกับปี 2561 เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังคงมีความต้องการข้าวคุณภาพดีจากไทยต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มราคาส่งออกข้าวไทยเมื่อปีที่ผ่านมาปรับลดลง ทำให้ราคาแตกต่างจากประเทศคู่แข่งไม่มาก ดังนั้น ด้วยคุณภาพข้าวไทยและราคาส่งออก ไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถทางการแข่งขัน ทำให้หลายประเทศอาจมีการนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ฟิลิปปินส์ มีการวางแผนจะนำเข้าข้าวเร็วขึ้น เพื่อจะได้มีข้าวเพียงพอที่จะจัดสรรไปทั่วประเทศ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยง หากคู่แข่งพัฒนาคุณภาพผลผลิตจากพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวของไทยได้


➣ ทิศทางราคายางยังน่าห่วง

ปี 2562 ผลผลิตยางพาราโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากเวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่มีการขยายเนื้อที่ปลูก ได้ทยอยเปิดกรีดยางเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการใช้ยางพาราของโลกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561 ตามความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของอินเดียยังคงขยายตัว ขณะที่ ปัจจัยลบจากมาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจส่งผลให้จีนชะลอการนำเข้าวัตถุดิบยางพาราเพื่อใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ ราคายางสังเคราะห์ที่ตํ่ากว่าราคายางธรรมชาติ ทำให้ผู้ใช้หันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนเพื่อลดต้นทุน ทั้งนี้ สศก. คาดว่า ราคายางพาราโลกมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา


ยาง1

สำหรับไทยในปีนี้จะมีเนื้อที่กรีดยางได้ 20.53 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 20.11 ล้านไร่ ในปี 2561 โดยผลผลิตจะมีประมาณ 4.91 ล้านตันยางแห้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลผลิตราว 4.77 ล้านตันยางแห้ง โดยความต้องการใช้ยางในประเทศคาดเพิ่มขึ้น ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น ส่วนการส่งออกคาดจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา


➣ ปาล์มสต๊อกล้น-กีดกันค่าแรง!

ปี 2562 คาดมีเนื้อที่ให้ผลผลิต 5.47 ล้านไร่ ผลผลิต 16.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ให้ผลผลิต 5.09 ล้านไร่ ผลผลิต 15.39 ล้านตันของปีก่อน ส่วนความต้องการใช้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากกระทรวงพลังงานเร่งรัดดำเนินการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล (B20) ให้มีสัดส่วนการใช้ที่เพิ่มขึ้น และเห็นชอบให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล (B7) จากอัตราส่วนผสม 6.5-7.0% เป็น 6.8-7.0% ซึ่งจะสามารถดูดซับนํ้ามันได้เพิ่มขึ้นปีละ 8 หมื่นตัน


ปาล์ม

ส่วนปัจจัยลบยังมีค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันสต๊อกนํ้ามันปาล์มโลกเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 10 ล้านตัน กดดันให้ราคานํ้ามันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ขณะที่ ประเทศ 'อินเดีย' โดยปกติมีการนำเข้านํ้ามันปาล์มเฉลี่ยปีละ 10 ล้านตัน ได้มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้านํ้ามันปาล์มดิบจาก 15% เป็น 44% และนํ้ามันปาล์มบริสุทธิ์จาก 40% เป็น 55% ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2561 ซึ่งไทยเองได้รับผลกระทบ เพราะมีสัดส่วนการส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ไปอินเดีย 65%

เช่นเดียวกับ สหภาพยุโรป (อียู) อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้พลังงานทดแทนใหม่ โดยมีเป้าหมายในการปรับลดการใช้นํ้ามันปาล์มลง อีกด้านหนึ่ง ผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย มีนโยบายปรับลดอัตราภาษีการส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบ เพื่อกระตุ้นการส่งออกและขยายตลาด ส่งผลให้ราคานํ้ามันปาล์มดิบโลกมีแนวโน้มลดลง จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบของไทย


➣ มันสำปะหลังโลกยังผันผวน

สินค้ามันสำปะหลังของไทย ในปี 2562 คาดจะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 8.41 ล้านไร่ ผลผลิต 29.98 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 8.03 ล้านไร่ ผลผลิต 27.88 ล้านตัน พื้นที่เก็บเกี่ยว ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปี 2561 ราคาหัวมันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงมาก เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก โดยปลูกแทนในพื้นที่อ้อยโรงงาน ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น


มัน

อย่างไรก็ตาม หากจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ลดการนำเข้ามันเส้นจากไทย หรือ ราคาพืชทดแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ปรับตัวลดลง อาจจะส่งผลทำให้ราคามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ของไทยปรับตัวลดลงได้

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,433 วันที่ 6-9 มกราคม 2562

595959859