กระทรวงดิจิทัลร่วมปฏิบัติการรับมือพายุ 'ปาบึก' (PABUK)

04 ม.ค. 2562 | 11:00 น.
กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกรมอุตุนิยมวิทยา เกาะติดสถานการณ์พายุโซนร้อน 'ปาบึก' แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณ 16 จังหวัด ครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย รวมถึงประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี ระวังอันตรายจากลมแรงและคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง แนะประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยบนเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th หรือ สายด่วนการพยากรณ์อากาศ 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง

16817[38865]
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 ว่า คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการปฏิบัติงานด้านติดตามสถานการณ์ด้านสาธารณภัย กรณีพายุโซนร้อน 'ปาบึก' (PABUK) อย่างใกล้ชิด โดยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุด มีประกาศฉบับที่ 18 เมื่อเวลา 12.45 น. แจ้งเตือนประชาชนในช่วงวันที่ 4–5 ม.ค. 2562 บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง

โดยประกาศฉบับดังกล่าว ระบุว่า พายุลูกนี้มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 เมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณระหว่าง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช หรือ ละติจูด 8.2 องศาเหนือ ลองติจูด 100.2 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 เมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและเคลื่อนเข้าปกคลุม จ.สุราษฎร์ธานี ในระยะต่อไป โดยมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคใต้ในช่วง 4–5 ม.ค. นี้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักมาก ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีลมแรงบริเวณ 16 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยคลื่นสูง 3–5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2–3 เมตร


16799[38861]

"การติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน 'ปาบึก' (PABUK) ในครั้งนี้ ผมได้ติดตามการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งการเปิดศูนย์ฯ นี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด เพื่อเตรียมความพร้อมอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัด ประกอบไปด้วย ทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม" นายพิเชฐ กล่าว

ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงข่ายสื่อสารในพื้นที่เสี่ยงภัยทางภาคใต้ทั้งหมดแล้ว และทีโอทีได้เข้าติดตั้งระบบโทรศัพท์ให้กับศูนย์พักพิง ณ จ.สงขลา จำนวน 17 แห่ง รวมทั้งอยู่ระหว่างเข้าไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ใช้งาน และ กสท โทรคมนาคม ได้นำวิทยุสื่อสาร DTRS ส่งให้สำนักงานของกรมอุตุฯ ในจังหวัดเสี่ยงภัยและจังหวัดใกล้เคียงรวม 16 จังหวัด และได้นำส่งโดย ปณท. เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งวิทยุดังกล่าวส่งถึงเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการติดตามสถานการณ์และรายงานประกาศแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบข่าวพยากรณ์ และเพื่อเตรียมความพร้อมต่อไป

บาร์ไลน์ฐาน