"ธุรกิจประกัน" ลุยทดสอบ NDID แชร์ข้อมูลพิสูจน์ตัวตน ลดความซํ้าซ้อน

08 ม.ค. 2562 | 06:31 น.
ธุรกิจประกันชีวิตเดินหน้าทดสอบระบบ NDID ประเดิมล็อตแรก 6-7 บริษัท แชร์ข้อมูลร่วมกัน เล็งเคาะวิธีใช้ตรวจสอบตัวตนผ่านไอดี รูปถ่าย คาดเฟสแรกดึงใช้ทำธุรกรรมซื้อประกัน เปลี่ยนแปลงที่อยู่ ขอใบรับรองภาษี "BLA-ฟิลลิป-เจนเนอราลี่" ประสานเสียงช่วยลดขั้นตอน กรอกฟอร์มซํ้าซาก เสนอโปรดักต์ออนไลน์สะดวกขึ้น คาดเริ่มใช้จริงตามหลังธนาคารพาณิชย์

ในแวดวงการเงินการธนาคาร หลายคนต้องเคยได้ยินศัพท์คำว่า KYC (Know Your Customer : KYC) เพราะหมายถึงกระบวนการการรู้จักลูกค้าที่สามารถระบุตัวตน (Identification) และพิสูจน์ตัวตน (Verification) ได้อย่างถูกต้อง เพราะการเปิดบัญชีธนาคาร หรือ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ผู้ใช้ต้องเปิดเผยข้อมูลและผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อมูลของลูกค้า (Customer Due Diligence : CDD) เพื่อเป็นการยืนยันและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการโจรกรรม

และเพื่อต่อยอดให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่ระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ หลังจากเดินหน้าโครงการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) และเพื่อให้การทำธุรกรรมทางดิจิตอลมีความปลอดภัย ลดขั้นตอนการทำธุรกรรม และลดช่องโหว่การปลอมแปลงเอกสาร จึงเกิดการต่อยอดโครงการ National Digital ID หรือ NDID ด้วยการตั้งบริษัทขึ้นมา โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ทั้งสมาคมธนาคารไทย (TBA) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

MP20-3433-A-
ปัจจุบัน โครงการ NDID หรือ การยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Identity อยู่ระหว่างการทดสอบ เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)โดยยืนยันตัวตนผ่านทางชีวภาพ (Biometrics) การทดสอบทำภายใต้ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มทดสอบไปแล้ว 5-6 ราย เป็นการทดสอบการเชื่อมข้อมูลระหว่างกัน เช่นเดียวกับบริษัทประกันที่เริ่มทดสอบกันไปบ้างแล้ว และระยะต่อไปจะไปสู่บริษัทกองทุนรวมต่าง ๆ ทั้งนี้ เมื่อโครงการ NDID เกิดขึ้น จะทำให้การเปิดบัญชีเงินฝาก ซื้อประกัน และเปิดบัญชีกองทุน สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ โดยประชาชนไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำซาก และลดทุจริตกรณีการสวมบัตรประชาชนเปิดบัญชี และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องไปสาขาธนาคารเพื่อเปิดบัญชีอีกต่อไป คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ภายในปีนี้

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทอยู่ระหว่างทดสอบระบบ NDID ร่วมกับบริษัทประกัน 6-7 แห่ง โดยจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลระหว่างกัน (Cross Check) ซึ่งระบบจะเก็บข้อมูลเป็น Data Base ไว้ หากในอนาคตผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันจะมีการขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยเฟสแรกจะเริ่มจากการทำธุรกรรม (Transaction) เช่น การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ การขอใบรับรองภาษี โดยไม่ต้องกรอกฟอร์มกระดาษหรือกรอกที่อยู่ใหม่

 

[caption id="attachment_370113" align="aligncenter" width="335"] ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์[/caption]

ทั้งนี้ E-KYC ของธนาคารพาณิชย์จะเป็นการตรวจสอบผ่านการเปิดบัญชี โดยไม่ต้องเดินมาสาขา แบบ Non Face to Face เริ่มจาก 6 ธนาคาร ซึ่งจะมีการตรวจสอบตัวตนผ่านการถ่ายรูปเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ ในส่วนของธุรกิจประกัน เมื่อมีธุรกรรมผ่านออนไลน์จะมีการเช็กข้อมูลเหล่านี้ โดยเลือกเช็กเป็นบางเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ใบหน้า นิ้วมือ หรือ อื่น ๆ คาดว่าภายในเร็ว ๆ นี้ น่าจะออกมาชัดเจนขึ้น ซึ่งประกันวินาศภัยน่าจะเริ่มทดลองใช้ NDID แล้ว

นายปรัชญา กุลวณิชพิสิฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ฟิลลิปประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทเป็น 1 ใน 6 บริษัทแรกที่นำร่อง NDID ที่จะนำมาใช้ในกลุ่มธุรกิจประกัน หลังจากกฎหมายผ่านเรียบร้อยแล้ว โดยต้องเป็นไปตามโครงสร้างและมาตรฐานที่ คปภ. รับรอง ซึ่งแฟลตฟอร์ม NDID ของธุรกิจประกัน คาดว่าน่าจะเริ่มใช้หลังธนาคารพาณิชย์เริ่มใช้แล้ว โดยเบื้องต้น ลูกค้าประกันที่ลงทะเบียน NDID หากมีธุรกรรมเกิดขึ้น หรือ ซื้อประกันใหม่ ลูกค้าไม่ต้องกรอกฟอร์มที่อยู่ใหม่ แต่ข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้สามารถแชร์ระหว่างกันได้ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและเวลาได้ค่อนข้างมาก รวมถึงประกันสามารถรู้จักลูกค้าได้มากขึ้น สามารถนำเสนอประกันผ่านออนไลน์และออฟไลน์ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


090861-1927-9-335x503-8-335x503-9

"เราเป็น 1 ใน 6 บริษัทล็อตแรกในกลุ่มที่จะนำร่อง เรื่อง NDID ซึ่งตอนนี้ทดสอบการโฟลว์ของระบบและกระบวนการ เพื่อให้แพลตฟอร์มเป็นไปแนวทางเดียวกัน ส่วนจะนำมาใช้เมื่อไรนั้น อาจจะต้องรอภาคแบงก์เริ่มใช้ก่อน แต่เชื่อว่าระบบนี้ออกมาจะช่วยให้การทำระบบผ่านออนไลน์ที่ติดขัดง่ายสะดวกขึ้น"

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เจนเนอราลี่ ประกันชีวิตไทยแลนด์ฯ กล่าวว่า หลังจากบริษัทร่วมลงทุนจัดตั้ง บริษัท NDID ผ่านสมาคมประกันชีวิตไทย ขณะนี้ สมาคมฯ ได้ประชุมฝ่ายเทคโนโลยีและไอทีร่วมกัน โดยอยู่ระหว่างคัดเลือก ระดับการตรวจสอบการพิสูจน์ตัวตน และการระบุ ID ว่า จะทำถึงขั้นไหน เช่น จะใช้เลข ID และรูปถ่ายร่วมกัน หรือเป็นรูปถ่ายอย่างเดียว โดยหลังจากลูกค้าเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ที่ตรวจสอบตัวตนแล้ว หากต้องการซื้อประกันจะมีการแชร์ข้อมูลร่วมกัน เพื่อลดขั้นตอนการยืนยันตัวตนอีกครั้ง รวมถึงลูกค้าไม่ต้องกรอกฟอร์มที่อยู่ซํ้าซ้อนหรือกรอกใหม่ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรม

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,433 วันที่  6 - 9 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859