เปิดแผนลุยเมกะโปรเจ็กต์ 41 โครงการ 1.77 ล้านล้าน!!

08 ม.ค. 2562 | 08:07 น.
แม้จะมีหลายโครงการได้รับการบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2561 (แอกชันแพลน) แต่ก็พบว่า ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จตามแผนได้ จนกระทั่งกระทรวงคมนาคมต้องนำไปบรรจุไว้ในแผนปี 2562 เพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ที่เพิ่มเข้ามาจะเป็นโครงการทางด่วนศูนย์การขนส่งสินค้า มอเตอร์เวย์สายใต้ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ทางวิ่งเส้นที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นโครงการเร่งด่วน

โดยโครงการที่ริเริ่มผลักดันในปี 2562 ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ จำนวน 12 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มโครงการที่ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ 2.กลุ่มโครงการที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) เห็นชอบ หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ภายในปีงบประมาณ 2562 และ 3.โครงการที่ประกวดราคาแล้วเสร็จ/ประกาศคัดเลือกเอกชน/เริ่มก่อสร้างได้ภายในปีงบประมาณ 2562


TP12-3433-A

ทั้งนี้ โครงการในกลุ่มที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) เห็นชอบ หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ภายในปีงบประมาณ 2562 กรอบวงเงินลงทุนกว่า 1.33 ล้านล้านบาท จำนวน 29 โครงการ อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์ ทางยกระดับในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัด รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้ารางเบา ท่าอากาศยาน ศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดน จัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า รถไฟสายสีแดง ท่าเรือ และที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน

เช่นเดียวกับ โครงการที่ริเริ่มผลักดันในปี 2562 จำนวน 12 โครงการ ประกอบด้วย 1.กลุ่มโครงการที่ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ จำนวน 1 โครงการ คือ การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเล ภาคใต้ช่วงชุมพร-สงขลา 2.กลุ่มโครงการที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) เห็นชอบ หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ภายในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 7 โครงการ อาทิ โครงการสถานที่บริการและที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ฯลฯ และ 3.กลุ่มโครงการที่ประกวดราคาแล้วเสร็จ/ประกาศคัดเลือกเอกชน/เริ่มก่อสร้างได้/พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 จำนวน 5 โครงการ อาทิ การปรับปรุงท่าเทียบเรือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเทียบเรือ การพัฒนาท่าอากาศยาน ฯลฯ

"ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าชาน เมืองสายสีแดง มีทั้งโครงการที่ประกวดราคาแล้วเสร็จ/ประกาศคัดเลือกเอกชน/เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2562 จำนวนรวม 29 โครงการ และโครงการที่ริเริ่มผลักดันในปี 2562 นี้อีก 12 โครงการ รวมวงเงินกว่า 1.77 ล้านล้านบาท"

สำหรับแหล่งที่มาของการลงทุนกว่า 1.77 ล้านบาท ใช้จ่ายเงินในปีงบประมาณ 2562 รวมจำนวนกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท โดยในแต่ละไตรมาสจำแนกประเภทแหล่งเงินทุนได้ 7 แหล่ง ดังนี้ คือ 1.งบประมาณ จำนวน 1.85 แสนล้านบาท 2.แผนบริหารหนี้สาธารณะ (เงินกู้) จำนวน 1.2 ล้านล้านบาท 3.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) จำนวน 2 แสนล้านบาท 4.รายได้ของหน่วยงาน จำนวน 1 แสนล้านบาท 5.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (TFF) จำนวน 3 แสนล้านบาท 6.เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง 40 ล้านบาท 7.รอผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อพิจารณาแหล่งเงิน จำนวน 5.3 หมื่นล้านบาท

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,433 ระหว่างวันที่ 6-9 มกราคม 2562

595959859