สจล. ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ติดตามความเคลื่อนไหวพายุ "ปาบึก" ผ่าน WMApp และ ThailandRain

04 ม.ค. 2562 | 07:44 น.
สจล. ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุ แนะประชาชนเกาะติดอิทธิพลของพายุปาบึก ด้วยแอพ WMApp และ ThailandRain พร้อมเตือน 15 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังฝนตกหนัก ลมแรง

รองศาสตราจารย์ สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้ระดมศักยภาพของบุคลากรและเตรียมความพร้อมรับมืออิทธิพลจากพายุปาบึก โดยได้จัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก" ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2562 ภายใน สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ บริเวณชั้น 1-2-3 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบในทันที โดยศูนย์ดังกล่าวสามารถรองรับผู้อพยพได้ประมาณ 500 คน พร้อมอุปกรณ์ยังชีพที่จำเป็นต่าง ๆ ได้แก่ ฟูกสำหรับผู้พักพิงชั่วคราว ศูนย์พยาบาลและสถานที่พักพื้น เปิดครัวพร้อมปรุงอาหาร 3 มื้อ มีน้ำประปาและไฟฟ้าสำรองขณะที่ไฟดับ น้ำไม่ไหลก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ นอกจากนี้ ภายในศูนย์ดังกล่าวยังได้ตั้งศูนย์ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุ (Data Center) ตลอดจนการให้คำปรึกษาเพื่อเยียวยาผลกระทบทางจิตใจ โดย สจล. มีแผนฟื้นฟูและช่วยเหลือพื้นที่รับผลกระทบตามความเหมาะสมหลังจากพ้นภาวะวิกฤติ


ภาพทิศทางพายุปาปึก (1)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค รองอธิการบดี วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนใน จ.ชุมพร และพื้นที่ใกล้เคียง โดยตั้งแต่เริ่มประชาสัมพันธ์ข่าวสารไปยังประชาชนในพื้นที่ มีประชาชนเริ่มติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูล รวมถึงการขอความช่วยเหลือแล้ว สะท้อนให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและการรับรู้ข่าวสารที่มีประสิทธิภาพในระดับท้องถิ่น โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นอย่างดี พร้อมแนะประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางการต่อเนื่อง จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น ไปจนถึงวางการแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยมีกลุ่มที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ ผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยใกล้ที่ลาดเชิงเขาและชายฝั่งทะเล ควรพิจารณาอพยพออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัยจนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤติ


ภาพ รองศาสตราจารย์ สุพจน์ ศรีนิล และ ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม "WMApp" และ "ThailandRain" เปิดเผยว่า จากการติดตามพายุปาบึก (Pabuk) ด้วยแอพพลิเคชันพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป "WMApp" และแอพพลิเคชันประมาณค่าปริมาณฝนจากดาวเทียม "ThailandRain" พบว่า พายุนี้ได้ก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน ก่อนจะพัฒนาเป็นพายุโซนร้อนทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม โดยส่วนหน้าของ "พายุโซนร้อนปาบึก" เคลื่อนที่เข้าฝั่งภาคใต้ตอนล่าง ฝั่งอ่าวไทย บริเวณ จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช และบางส่วนของประเทศมาเลเซีย


ภาพประกอบอัตราหยาดน้ำฟัา จากระบบ WMapp (2) (1)

โดยอิทธิพลของพายุดังกล่าวส่งผลให้ 15 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไป จะมีฝนตกครอบคลุมทั่วภูมิภาค และตกหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และตอนล่างของประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันนี้ (4 ม.ค. 62) จนถึงวันที่ 5 ม.ค. 2562 หลังจากนั้นพายุดังกล่าวจะเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกสู่ทะเลอันดามัน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น ฝนลดลงตามลำดับ โดยสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วง 1-2 วันนี้ คือ อันตรายจากฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม รวมถึงคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอ่าวไทย และลมกระโชกแรง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่


ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี (2)

สำหรับระบบพยากรณ์อากาศ WMApp จะสามารถพยากรณ์อากาศที่แม่นยำและมีความละเอียดสูง โดยเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถพยากรณ์อย่างอากาศอย่างละเอียด สามารถระบุตำแหน่งและเวลาที่ฝนจะตกได้เป็นรายเขตปกครอง และยังให้ผลพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ได้ล่วงหน้า 5.5 วัน ค่าประมาณฝนจากการสังเกตของดาวเทียมคลื่นมิลลิมิเตอร์เวฟแบบแพสซิฟและดาวเทียมค้างฟ้าอินฟราเรดแบบแพสซิฟ โดยใช้อัลกอริทึม AMP และ JPP ซึ่งอัลกอริทึม AMP ถือเป็นอัลกอริทึมแรกของโลก และมีความถูกต้องแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน ที่สามารถประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าได้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมและทะเลน้ำแข็ง เช่น ขั้วโลกเหนือ และยังสามารถรายงานการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกได้ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากกับการวางแผนการรับมือกับการเกิดภัยพิบัติ เตรียมความพร้อมอพยพประชาชนไปสู่พื้นที่ปลอดภัย และช่วยลดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และสำหรับแอพพลิเคชัน "ThailandRain" เป็นครั้งแรกของไทย ที่ให้ผลการประมาณค่าปริมาณฝนจากการสังเกตของดาวเทียมถึง 10 ดวง ให้ข้อมูลฝนครอบคลุมทุกจุดของประเทศ ทั้งฝนแบบเกือบทันทีทันใด ฝนรายชั่วโมง ฝนรายวัน ฝนรายเดือน และฝนรายปี โดยสามารถติดตามผลการพยากรณ์อากาศ ทั้งฝน ลม อุณหภูมิ และพายุ ได้อย่างละเอียดและเป็นปัจจุบัน ได้ทางเพจเฟซบุ๊กแฟนเพจ "สจล. พยากรณ์อากาศประเทศไทย" ซึ่ง ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี ได้โพสท์ผลการพยากรณ์เป็นประจำทุกวัน


ภาพ ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี กำลังอธิบายการเคลื่อนตัวของพายุปาปึก

ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก ภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้ที่เบอร์ประสานงานทั่วไป 077-506-410 แจ้งเหตุฉุกเฉิน 083-066-5373 และ 088-757-4847 หรือเข้าไปที่ www.facebook.com/kmitlnews/

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว