15 ประเด็นจับตา ประชาคมอาเซียน2019 (2)

05 ม.ค. 2562 | 04:30 น.
ในตอนที่แล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นไปแล้วว่าปี 2019-2020 ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของทั้งประเทศไทยและประชาคมอาเซียน ดังนั้นบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และได้กล่าวถึงประเด็นที่เราต้องจับตา เฝ้าระวัง อันเกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกับประชาคมอาเซียนไปแล้ว 4 ข้อ นั่นคือ

1. ประเด็นความมั่นคงที่มีความสุ่มเสี่ยงของแต่ละประเทศ 2.  การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มทรงตัวและอาจจะหดตัวในแต่ละประเทศสมาชิก 3. การเจรจาเพื่อหาข้อสรุป ลงนาม และมีผลบังคับใช้ของข้อตกลงการค้าที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ASEAN+6 และ 4. ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีแนวโน้มขยายขอบเขตไปมากกว่าประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ

ตอนที่ 2 นี้เรามาว่ากันต่อที่ประเด็นที่ 5-7 ซึ่งจะเน้นหนักไปในเรื่องของความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security) หรือประเด็นด้านความมั่นคงของมนุษย์ในระดับภูมิภาคเป็นหลักครับ

5. ความสุ่มเสี่ยงและความท้าทายทางด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค แน่นอนว่าภัยคุกคามในรูปแบบใหม่เหล่านี้ไม่มีสัญชาติ ไม่มีขอบเขต และมีลักษณะข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากการก่อการร้าย ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์และศาสนาจนนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง (เราไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะกลุ่มโรฮิงญา-เบงกาลีเท่านั้น แต่สถานการณ์ของกลุ่มไทยใหญ่ในรัฐฉาน กลุ่มชาวม้งในสปป.ลาว ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มมุสลิมโมโร หรือแม้แต่การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันกับแรงงานต่างด้าวในหลายๆ ประเทศ ฯลฯ ก็ยังคงเกิดขึ้นทั่วทั้งอาเซียน)

ความขัดแย้งอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในสภาวะภูมิอากาศอันนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร ธรรมชาติและที่ดินทำกิน จนเกิดการทำลายแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การเผาป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกินจนนำไปสู่หมอกควันไฟที่ปกคลุมหลายประเทศทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและประเทศไทย หรือแม้แต่ประเด็นความมั่นคงแบบดั้งเดิม อาทิ กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ เหล่านี้คือความท้าทายของประชาคมอาเซียนที่ต้องจับตาในปี 2019

287

6. โครงสร้างของประชาคมอาเซียน และสำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียนก่อตั้งขึ้นในปี 1976 และถึงแม้จะมีการปฏิรูปปรับปรุงโครงสร้างและรูปแบบการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีกฎบัตรอาเซียน แต่คำถามที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้การทำงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลกว่านี้ หรือแม้แต่มีสภาพบังคับและการยอมรับมากขึ้นยิ่งกว่านี้ในการบังคับใช้ข้อตกลงต่างๆ ของประชาคมอาเซียนให้เกิดความก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์

หรือแม้แต่โครงสร้างของประชาคมอาเซียนเอง ที่ครอบคลุมทุกมิติและทุกระดับ และมีกลไก 3 ด้านคือ ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political- Security Community: APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และ ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) แต่จะทำอย่างไรให้กลไกเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และสร้างประโยชน์ให้กับ “ประชาชนอาเซียน ASEAN Citizen” ได้อย่างแท้จริง จนทำให้ประชาชนอาเซียนภูมิใจที่เขาเป็นประชาชนอาเซียน รวมทั้งทำอย่างไรให้กลไกของอาเซียนสอดคล้องพ้องกันกับแนวทางการพัฒนาของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างยั่งยืน

7. ประเด็นนี้คือการเจาะลึกลงไปในปัญหาเร่งด่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือ วิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ของประเทศเมียนมา อย่างที่เราทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญา-เบงกาลี กำลังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง หลายภาคส่วนใช้คำว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนทำให้มีผู้อพยพหลายแสนคนเดินทางจากถิ่นฐานของตนลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในและนอกประชาคมอาเซียน โดยส่วนใหญ่ (มากกว่า 8 แสนคน เข้าไปในประเทศบังกลาเทศ)

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนหลากมิติ ทั้งความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา การเมือง และปมขัดแย้งในประวัติศาสตร์ ทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยากลำบาก แต่คำถามที่สำคัญสำหรับประชาคมอาเซียนก็คือ แล้วเราจะเดินหน้ากับประเด็นนี้อย่างไร ซึ่ง 5 ความเป็นไปได้หรือ 5 แนวทางสำหรับอาเซียนที่จะต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับปัญหานี้คือ เรื่องใหญ่ที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องพิจารณา โดย 5 ความเป็นไปได้นี้ ได้แก่

a. อาเซียนต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวิกฤติในครั้งนี้อย่างเด็ดขาด เพราะวิกฤตินี้ถือเป็นกิจการภายในประเทศของเมียนมา และอาเซียนก็ถือเป็นหลักปฏิบัติที่เคารพมาโดยตลอด ตลอดทั้ง 51 ปีของอาเซียน นั่นคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน คำถามคือ เราจะทำเช่นนี้ได้จริงหรือ ในเมืองประชาชนเรือนล้านกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส สิทธิมนุษยชนกำลังถูกยํ่ายี และพวกเขาเหล่านี้สุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิต บ้านแตก ไร้ญาติขาดมิตร และที่ยังอยู่ได้ก็มีคุณภาพชีวิตที่ยํ่าแย่เต็มที และวิกฤติครั้งนี้ยังอาจทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และความขัดแย้งกับประเทศนอกอาเซียนอีกด้วย กิจการภายในของประเทศหนึ่งอาจจะกลายเป็นกิจการส่งผลกระทบไปทั้งภูมิภาคก็ได้

b. อาเซียนต้องเข้าไปช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนกับคนโรฮิงญา-เบงกาลี เหล่านี้ แม้จะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาได้ แต่ที่เราทำได้คือนำเอาความช่วยเหลือ อุปกรณ์ยังชีพ สิ่งของที่ตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่เรามีเตรียมพร้อมเอาไว้อยู่แล้วในนาม Disaster Emergency Logistics System for ASEAN หรือ DELSA และ ASEAN Center Military Medicine (ACMM) ออกไปช่วยเหลือพวกเขาที่กำลังทุกข์ร้อนแสนสาหัส เอาไปช่วยพวกเขาใน แคมป์ที่ Cox’s Bazar ไปแสดงให้โลกรู้ว่า ถึงแม้ทางการของบางประเทศอาจจะไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้ แต่ในเมื่อพวกเขาเป็น ASEAN Citizen เป็นประชาชนอาเซียน ประชาคมอาเซียนก็ต้องดูแล การออกไปให้ความช่วยเหลือนอกประเทศเมียนมา คือการไม่แทรกแซงกิจการภายใน แต่เป็นการปักหมุดให้ทั้งโลกได้รับรู้ว่า อาเซียนดูแลประชาชนอาเซียน โดยเฉพาะในเวลาที่เขาตกทุกข์ได้ยากมากที่สุด

c. ใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อกดดันให้รัฐบาลเมียนมาต้องดำเนินการกับวิกฤติในครั้งนี้ กลไกอย่างไม่เป็นทางการ หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า ASEAN Way เกิดจากความใกล้ชิดสนิทสนมของบุคคลที่ทำงานในเรื่องอาเซียนในแต่ละระดับที่ทำงานร่วมกันต่อเนื่องจนเกิดความสนิทสนม เป็นการพูดคุยเมื่อมีจังหวะเวลาที่เหมาะควร โดยไม่มีการจดบันทึก ไม่เป็นทางการ และไม่ทำให้ใครต้องอับอายเสียหน้า

กลไกเหล่านี้อาจจะช้าและไม่มีรูปแบบตายตัวที่ชัดเจน แต่หลายๆ ครั้งก็ประสบความสำเร็จในลักษณะที่บัวไม่ให้ชํ้านํ้าไม่ให้ขุ่นและหาทางออกเรื่องที่แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้มาแล้ว อาทิ การผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยและการเปิดประเทศของเมียนมา การระงับข้อขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา การหาทางออกในเรื่องทะเลจีนใต้ การผลักดันให้เกิดการลด ละ เลิก มาตรการกีดกันทางการค้า ฯลฯ ประเด็นยากๆ เหล่านี้ เคยทำสำเร็จมาแล้วอย่างไม่เป็นทางการตามวิถีอาเซียน ดังนั้นเราอาจจะต้องใช้กระบวนการที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้ กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิกฤติสิทธิมนุษยชนคราวนี้

d. ไทยในฐานะประธานอาเซียนใช้เวทีอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในฐานะตัวกลาง (Mediator) ที่จะเรียกประชุมตัวแทนจากทุกภาคส่วนทั้งในเมียนมา ประชาคมอาเซียน และประเทศนอกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนทั้งจากกลุ่มโรฮิงญา กลุ่มคนพุทธในเมียนมา กลุ่มประชาสังคมต่างๆ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ ให้ครบถ้วน ทุกภาคส่วนจริงๆ ให้เป็นเวทีทางการ เพื่อหาทางออกที่เป็นรูปธรรมในการแก้วิกฤตการณ์นี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นกับภาวะผู้นำของผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนด้วย ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราทำสำเร็จบทบาทของประเทศไทยก็จะเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องจากประชาคมโลก

e. ความเป็นไปได้ที่ 5 ที่อาจจะสุดขั้ว และรุนแรงที่สุด บอบชํ้ามากที่สุด ก็คือ อาเซียนจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพในระดับภูมิภาค (Regional Peacekeeping Operation) แล้วเดินหน้าเข้าแทรกแซงในพื้นที่รัฐยะไข่อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้คือวิธีที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างรุนแรงแน่นอน ซึ่งเราคงไม่อยากเห็นภาพนี้เกิดขึ้น

ส่วนตัวผมเอง ผมเชื่อว่าทางเลือก b.+ c. ที่ทำไปพร้อมๆ กัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ในครั้งนี้

ประเด็นที่ 8-10 ที่เราจะมาจับตากันต่อในบทความตอนต่อไป จะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์อาเซียน สหรัฐฯ และจีน พบกันใหม่ในตอนที่ 3 ของบทความชุดนี้ครับ

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3433 ระหว่างวันที่ 6 - 9 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว