บิ๊กซีชูสัญลักษณ์ BQLยกสินค้าเกษตรขึ้นห้าง

05 ม.ค. 2562 | 10:54 น.
“บิ๊กซี” ชูสัญลักษณ์ BQL หนุนเกษตรกรพัฒนาพืชเศรษฐกิจตอบรับผู้บริโภค เล็งขยายวงกว้าง พร้อมยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐานอเมริกา หวังขยายช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

นายพิริยะ กมลเดชเดชา ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายจัดซื้อสินค้าประเภทอาหารสด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนพัฒนาและเดินหน้านโยบายการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรและควบคุมคุณภาพ ภายใต้สินค้าที่มีสัญลักษณ์ Big C Quality Line หรือ BQL โดยจะเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์พืชเศรษฐกิจที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น เสาวรส อโวคาโด ฯลฯ แทนที่ข้าว ข้าวโพด ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น โดยทีมจัดซื้อและพัฒนาสินค้าจะลงพื้นที่ตามชุมชนวิสาหกิจเกษตรต่างๆ ในการพัฒนาผลผลิต การจัดเก็บ การบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการแปรรูป เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

“บิ๊กซีให้การสนับสนุนเกษตรกรในการส่งเสริมอาชีพโดยรับซื้อผลผลิตจากสวนหรือฟาร์มที่เพาะปลูกผลไม้คุณภาพดี ได้มาตรฐาน มีรสชาติอร่อยในราคายุติธรรม โดยทางบิ๊กซีได้ให้ทีมงานควบคุมคุณภาพ เข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรกรดูแลคุณภาพของแหล่งนํ้า พื้นที่เพาะปลูก การใช้สารเคมีทางการเกษตร การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การขนย้ายในบริเวณแปลงเพาะปลูก การรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล รวมถึงการจัดเก็บข้อมูล”

390816 ทั้งนี้เพื่อได้มาตรฐานระดับสากล บิ๊กซีมีการตรวจประเมินฟาร์มและซื้อผลผลิตจากสวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลผลิตที่ออกไปนั้นมีความสด สะอาด ปราศจากสารเคมี ตกค้าง และมีรสชาติคงที่ ซึ่งไม่ว่าจะซื้อจากที่บิ๊กซีสาขาใด ก็จะได้รับประทานผลไม้สดที่มีรสชาติความหวานเหมือนกัน

“BQL จะเน้นการคัดสเปก คัดเกรด สินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าที่ได้ตราสัญลักษณ์ BQL ราว 20 รายการ อาทิ เมลอน แตงโม เสาวรส สับปะรด ฯลฯ เกษตรกรเองจะได้ราคาดีกว่าท้องตลาด และในอนาคตจะขยายเพิ่มไลน์ รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายจากปัจจุบันที่มีการทดลองวางจำหน่ายใน 40 สาขา ก็เพิ่มเป็นกว่า 130 สาขา”

1543308270089

ล่าสุดบริษัทยังขยายไลน์สินค้าในกลุ่มผัก และผลไม้ออร์แกนิกวางจำหน่ายในบิ๊กซี เชียงราย และบิ๊กซี ฟู้ด เพลส (Big C Food Place) สาขาเกตเวย์ บางซื่อ โดยมีจุด เด่นที่แพ็กเกจจิ้งสวยงาม และได้รับการรับรองมาตรฐานจาก USA ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาและขยายช่องทางการจำหน่าย ไปยังสาขาที่เปิดใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย

หนึ่งในโมเดลวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จคือ การร่วมกับวิสาหกิจชุมชนห้วยสักฟาร์ม ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และมีช่องทางการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างมั่นคง และยังจัดทำโครงการเพื่อขอเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยบิ๊กซี ให้การคํ้าประกันเรื่องของใบรับรองแหล่งรายได้ที่ชัดเจนให้กับธกส. ด้วยการเข้าช่วยเหลือเกษตรในการรับสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และส่งเสริมข้อมูลในการเพาะปลูกผักและผลไม้ให้ได้คุณภาพ เพื่อจัดจำหน่ายผักผลไม้เมืองเหนือจากชุมชนไปยังบิ๊กซีทุกสาขาทั่วประเทศ ทำให้เกิดแรงสนับสนุนที่สำคัญผลักดันให้โครงการผ่านการอนุมัติจาก ธ.ก.ส. ด้วยจำนวนเงินถึง 3 ล้านบาท

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,433 ระหว่างวันที่ 6-9 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว