ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ทำไมบริษัทแสนสิริ จึงไม่ยกสะพานและทางขึ้นลงให้สาธารณะ

03 ม.ค. 2562 | 11:02 น.
แสนสิริ S__6799383 จากบทความของผู้เขียนเรื่อง “กทม.อย่าเอาสมบัติแผ่นดิน เอื้อประโยชน์เอกชน” ที่ได้ลงตีพิมพ์ในฉบับเมื่อวันที่ 20-22 ธันวาคม 2561 เกี่ยวกับกรณีที่ กทม.ได้อนุญาตให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง ซึ่งเป็นคลองสาธารณะ เป็นทางนํ้า ทางระบายนํ้าและทางเดินเรือ ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาที่ดินของบริษัท ในการดำเนินธุรกิจตามโครงการสร้างอาคารชุดจำหน่ายแก่ประชาชนโดยทั่วไป เพื่อแสวงหาผลกำไร โดยใช้ประโยชน์จากสะพานดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว และเรียกเก็บเงินจากประชาชนที่ประสงค์จะเดินทาง ใช้เส้นทางผ่านขึ้นลงสะพานโดยเก็บจากรถยนต์คันละ 20 บาท รถจักรยานยนต์คันละ10 บาทต่อครั้ง ดังปรากฏรายละเอียดตามบทความดังกล่าวแล้วนั้น
S__6823976 ภายหลังจากที่ “หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตีพิมพ์บทความดังกล่าวทั้งในหนังสือพิมพ์ และทางเว็บไซต์ของฐานเศรษฐกิจออนไลน์ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้เขียนเขียนต้นฉบับนี้นับได้ 50,460 ครั้ง มีผู้แชร์ต่อถึง 11,700 ราย ถือได้ว่าเป็นบทความที่มีผู้อ่านและแชร์ต่อๆ ไปมากที่สุดในรอบปี

อ่าน | ข้าพระบาท ทาสประชาชน : กทม.อย่าเอาสมบัติแผ่นดิน เอื้อประโยชน์เอกชน

สำหรับบทความในคอลัมน์ของผู้เขียน ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์ที่ประชาชนให้ความสนใจและให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นที่แปลกประหลาดใจที่สุดที่ทั้ง กทม.และบริษัทเอกชนผู้เกี่ยวข้อง กลับมิได้ให้ความสนใจและไม่ยอมออกมาชี้แจงหรือตอบข้อสงสัยของประชาชน แม้ในวันต่อๆ มาคือ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ในรายการ “ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ” ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่น ทีวี ที่ดำเนินรายการโดย คุณบากบั่น บุญเลิศ จะได้นำเรื่องนี้มาเสนอต่อประชาชน โดยมีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินของโครงการ “T77 อาณาจักรหมื่นล้าน” ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของตนอย่างไร มาเสนอต่อประชาชน



แต่ทั้ง กทม.และบริษัทเอกชนดังกล่าว กลับปิดปากเงียบ ประหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้ประชาชนจะตั้งข้อสงสัยมากมายเพียงใด หน่วยงานปกครองท้องถิ่น ที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารสูงสุด และบริษัทเอกชน ยังคงทำเหมือนทองไม่รู้ร้อน เห็นเสียงประชาชนเหล่านั้นเป็นเพียงเสียงนกเสียงกา แม้ผู้เขียนจะเสนอให้ชี้แจงข้อสงสัย หรือดำเนินการแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากยิ่งกว่าประโยชน์ของเอกชน หรือโดยให้ผลประโยชน์ของมหาชนกับผลประโยชน์ทางธุรกิจเอกชน ไปด้วยกันได้ อย่างมีสัดส่วนที่เป็นธรรม ถูกต้อง และเหมาะสม แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจาก กทม.และบริษัทเอกชน ดังกล่าวแต่อย่างใด

ผู้เขียนเคยได้ฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่โยธาของ กทม.ท่านหนึ่ง ผ่านรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า “บริษัทเอกชนที่ขออนุญาตสร้างสะพาน ได้ยกสะพานให้เป็นสาธารณะ เพื่อให้อยู่ในความดูแลของ กทม.แล้ว แต่ยกให้เพียงเฉพาะตัวสะพานข้ามคลองเท่านั้น ส่วนทางขึ้นลงสะพานทั้ง 2 ฟากคลองไปจดถนนสาธารณะ ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน กทม. ไม่มีอำนาจบังคับให้เอกชนยกที่ดินที่เป็นทางให้เป็นสาธารณะ แม้มีระเบียบ กทม. กำหนด ไว้ กทม.ก็ทำได้เพียงรับเอาสะพานเป็นของ กทม.เท่านั้น เอกชนจึงเก็บเงินขึ้นลงหรือผ่านสะพานได้”
แอดฐานฯ เพิ่มเพื่อน


วิญญูชนทั้งหลายพึงพิจารณาครับ หาก กทม.มีความไร้เดียงสาเช่นนี้ สมควรหรือไม่ที่จะมอบอำนาจหน้าที่ให้ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะก่อนการอนุญาตให้เอกชนสร้างสะพานข้ามคลอง เชื่อมที่ดินทั้ง 2 ฟากฝั่งที่ไม่มีทางเข้าออก หรือมีก็ไม่สะดวกและคับแคบ ยากแก่การสัญจรไปมา หากไม่มีสะพานข้ามคลองพระโขนง ก็ไม่อาจมีทางหรือถนนที่จะเชื่อมทางสาธารณะได้ โครงการดังกล่าวย่อมไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่มีมูลค่าน่าสนใจแก่ผู้ซื้อ

การอนุญาตให้เอกชนสร้างสะพานดังกล่าว จึงเป็นการเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งแก่การพัฒนาที่ดินเอกชน และเป็นการสร้างมูลค่าที่ดิน เอื้อประโยชน์แก่เอกชนอย่างมหาศาล โดยอาศัยอำนาจของมหาชนเพื่อเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินมารับใช้ประโยชน์เอกชน การรับเอาเพียงสะพานข้ามคลองเป็นสาธารณะ แต่มิให้ทางขึ้นลงสะพานเป็นทางสาธารณะ เป็นวิธีคิดแบบ “ศรีธนญชัย” เอาแต่ได้ ย่อมส่อเจตนาการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลอื่นนั่นเอง
S__6799381 ก่อนการอนุญาต กทม.ย่อมสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่า การยกสะพานให้เป็นของสาธารณะ ผู้ขออนุญาตต้องยกที่ดินทางขึ้นลงสะพานเพื่อผ่านและเชื่อมสู่ถนนสาธารณะ ให้เป็นสาธารณประโยชน์ด้วย เช่นนี้ย่อมอยู่ในอำนาจที่ กทม.สามารถกระทำได้ตามอำนาจหน้าที่ หากมีความสุจริตและคำนึงถึงประโยชน์ของมหาชน มากยิ่งกว่าผลประโยชน์ของเอกชน เพราะการยกให้ กทม.เฉพาะสะพาน โดยมิยกส่วนควบคือที่ดินอันเป็นทางขึ้นลงสะพานให้ด้วย คำว่า “ยกให้เป็นของสาธารณก็ไร้ความหมาย” เพราะประชาชนโดยทั่วไป ย่อมมิอาจใช้ประโยชน์ใดๆ จากสะพานนั้นได้เลย ซึ่งวิญญูชนโดยทั่วไปย่อมเล็งเห็น แต่เหตุไฉน กทม.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง กลับแสดงภูมิรู้ด้อยกว่าประชาชนโดยทั่วไป
S__6799385 ประเด็นปัญหาเรื่องการสร้างสะพานข้ามคลองสาธารณะนี้ ยังมีประเด็นทางกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องมากมายหลายประการ ถ้าหากมั่นใจว่าท่านทำถูกต้อง ทำไมไม่กล้าออกมาชี้แจงอย่าตะแบงและดื้อรั้นเลยครับ เพียงแต่ท่านยกสะพานและทางขึ้นลงรวมถึงถนนที่เชื่อมถึงทางสาธารณะ ให้ตกเป็นของ กทม. หรือของสาธารณะทั้งหมด ให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ต้องตั้งด่านเก็บเงินเรื่องก็จบ

บริษัทเอกชนซึ่งได้ประโยชน์มหาศาลจากการใช้สมบัติแผ่นดินมาเอื้อประโยชน์ตน ก็อยู่ร่วมกับสังคมได้ ทำไมยังเห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อยเช่นนี้

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ควรมีธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม หากเสียสละประโยชน์ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ย่อมถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในทางธุรกิจ นำมาซึ่งผลดีต่อการประกอบการ และความนิยมศรัทธาของลูกค้า คิดผิดคิดใหม่ได้ ทำผิดก็แก้ไขได้ และอย่าทำให้ลูกค้าหมดความนิยมศรัทธาเลยครับ จะได้ไม่คุ้มเสีย

|คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
|โดย : ประพันธุ์ คูณมี
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3432 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค.2561
595959859