ฐานโซไซตี : 2562 ไทยประธานอาเซียน ลุ้นบูมท่องเที่ยว หากไร้ศึก “กีฬาสี”

03 ม.ค. 2562 | 13:19 น.
อาเซียน-004 ลาทีปีจอ อย่างเป็นทางการต้อนรับศักราชใหม่ปีหมูจะเป็น “หมูทอง” หรือ “หมูไฟ” ต้องดูกันต่อไป แต่ก็ยังมีปรากฏการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วมาถึงต้นปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่คึกคักข้ามปีและหนักข้อขึ้นทุกวัน ทุกเวทีสาดนโยบายบ้าง สาดโคลนบ้างกันมันปาก “ดราม่า” ก็โผล่มาเป็นระยะๆ จนกว่าจะถึงวัน “กาบัตร” ข่าวดีอีกเรื่องประเทศไทยจะเป็น “ประธานอาเซียน 2019” ที่จะมีการประชุมย่อยนับร้อยนัดทยอยเข้ามาใช้เวทีพูดคุยในเมืองไทยตลอดทั้งปี 2562 และปลายปีจะมีซัมมิทใหญ่ หากไม่เปิดศึก “กีฬาสี” งานนี้น่าจะบูมเรื่องการท่องเที่ยวได้แยะ

ปีใหม่ม.หอการค้าไทย อธิการบดี “เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” ระบุว่าจะมีเงินสะพัด 1.3 แสนล้านบาท ค่ากิน ปาร์ตี้ ช็อปปิ้ง ของขวัญของกำนัล เที่ยวในประเทศต่างประเทศ ก็ว่ากันไปตามเงินในกระเป๋า ส่วน “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ สถาบันเดียวกันประมาณการสิ้นปี “จีดีพี” จะขยายตัว 4.3% ได้แรงหนุนจากการอัดฉีดของรัฐบาลช่วงโค้งท้ายและเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่เศรษฐกิจไทยโตเกิน 4% ส่วนปี 2562 ให้กรอบไว้ที่ 4.3-4.5%  ฟังดูดี

[caption id="attachment_369463" align="aligncenter" width="503"] เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์[/caption]

แต่ยังมีสิ่งที่น่าห่วงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยโลก อังกฤษกับอียู “เบร็กซิท” สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ดอกเบี้ยขาขึ้น ล้วนแล้วแต่ยังไม่มีความแน่นอน สถานการณ์โลกยังไม่น่าไว้วางใจ ไหนจะเรื่องของภัยธรรมชาติ อย่างกรณี “สึนามิ” ที่อินโดนีเซีย ส่วนปัจจัยในประเทศปี 2562 สิ่งที่ต้องเผชิญก็คืออัตราดอกเบี้ยที่เป็นช่วงขาขึ้น สินค้าเกษตรราคาตํ่าติดดิน ภาคส่งออกและท่องเที่ยวที่ยังต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด ยุค “ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น” ภาคอสังหาฯทั้งคนซื้อ-คนขายเหนื่อยหนักแน่ และต้องติดตามว่า คอนโดฯตามแนวรถไฟฟ้ายังเหลือค้างสต๊อกอยู่บานเบอะจะระบายกันอย่างไร ในเมื่อยังมีซัพพลายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดไม่ได้หยุด ดอกเบี้ยจึงเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับผู้บริโภคปีหมู

[caption id="attachment_369473" align="aligncenter" width="406"] ธนวรรธน์ พลวิชัย ธนวรรธน์ พลวิชัย[/caption]

ยังมีลุ้นต่อเปิดศักราชปุ๊บ ร.ฟ.ท. ก็ตั้งท่าเจรจากับ “ซีพี” สัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน ซองที่ 4 ดูว่าจะมีเงื่อนไขอะไร เป็นพิเศษ ในวันที่ 3 มกราคม แต่ถ้าไม่มี ยอมรับกันได้ก็เป็นอันว่าจบสวยกับเมกะโปรเจ็กต์ยักษ์ที่ทุนกลุ่มนี้คว้าไปครอง แต่เข้าตำรา “สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร” ดูกันต่อไป และลุ้นว่าวันที่ 31 มกราคม 2562 จะได้เปิดแชมเปญฉลองใหญ่เซ็นสัญญาโครงการ 2.2 แสนล้านบาท ตามไทม์ไลน์ของการรถไฟฯ ได้หรือไม่

[caption id="attachment_369435" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ส่วนวันที่ 5 มกราคม ก็น่าจะเป็นวันประวัติศาสตร์ปิดตำนานโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่มีอายุล่วงเลยมาถึง 49 ปีเต็ม ลงอย่างสวยงามเพื่อพบกับโฉมใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า “ชนินทธ์ โทณวณิก” ทายาท “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” จัดงานเลี้ยงลาอยู่หลายรอบ และยอมรับว่าทำใจยากและเป็นการตัดสินใจลำบากที่สุดในชีวิต เพราะรู้ดีว่าโรงแรมแห่งนี้คือชีวิตจิตใจของท่านผู้หญิง ที่ปลุกปั้นมากับมือ ทั้งลงทุนลงแรง สร้างมาด้วยความยากลำบาก

ฉะนั้นโฉมใหม่ “ชนินทธ์” จึงหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในประเทศไทย ที่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทยเอาไว้ เพราะที่ผ่านมาติดเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่สามารถปรับปรุงให้สู้กับคู่แข่งได้ไม่ว่าจะเป็น ขนาดของห้องพักและอื่นๆ ด้วยอายุของโครงสร้างอาคารผ่านมาครึ่งศตวรรษ “ดุสิตธานีโฉมใหม่” ในทำเลเดิมจะออกมาชิงบัลลังก์ โรงแรมคืนได้หรือไม่ก็คงต้องฝากไว้กับทายาทรุ่นที่ 3 ต้องท้าพิสูจน์

[caption id="attachment_369468" align="aligncenter" width="503"] ชนินทธ์ โทณวณิก ชนินทธ์ โทณวณิก[/caption]

ส่วนกลางเดือนเมษายนก็มาถึงคิวการปิดตัวของ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เพื่อสร้างใหม่ด้วยงบประมาณเฉียดหมื่นล้านบาท หลังจากโครงการนี้ยืดเยื้อมายาวนานด้วยเหตุผลทาง กฎ ระเบียบ ข้อกฎหมายผังเมืองที่ห้ามสร้างตึกสูง ซึ่งกว่าจะเคลียร์กันลงตัวระหว่างเอกชนกับกรมธนารักษ์ ก็ลากยาวมาหลายรัฐบาล โดยฝ่ายรัฐเสียเปรียบเพราะได้ค่าเช่าในราคาเดิมแทนที่จะได้เพิ่ม แต่จะว่าไปแล้วจนบัดป่านนี้ทางศูนย์ฯก็ยัง “ไม่ได้เซ็นสัญญา” เป็นทางการกับธนารักษ์ แม้อธิบดีให้สัมภาษณ์มาหลายครั้งหลายคราวว่า จะเซ็นๆ วงในบอกว่าติดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ทำเอายังเซ็นไม่ได้ รออัยการตีความ และเอาเป็นว่าฝ่ายบริหารเขาประกาศปิดศูนย์ฯรอทุบล่วงหน้าไปแล้ว
ทอส ทิ้งท้ายกันด้วยคนอยากมีบ้านหลังจากได้เฮ กับโครงการบ้านล้านหลัง ไม่เกินล้านบาท เมื่อปลายปี ทั้งปังและเปรี้ยง ยอดจองสิทธิ์ทะลักไปถึง 1.3 แสนล้านบาท จากวงเงินที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์กันงบไว้ให้ 5 หมื่นล้านบาท เกินความคาดหมายไปมาก นักการเมืองออกมาบอกว่าเป็น “ดีมานด์เทียม” ฟังแล้วไม่เข้าหู เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่า โครงการรถคันแรก บ้านหลักแรก ของรัฐบาลก่อนหน้านั้น เพราะโครงการนี้ทำให้คนที่ “ฝัน” อยากจะมีบ้านสักหลังในชีวิต เป็นความจริงผ่อนไม่เกินกำลัง ส่วนเมื่อสกรีนแล้วจะ “กู้ผ่าน” กี่คนก็ตามไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะที่อยู่อาศัยคือพื้นฐานความเป็นอยู่ของครอบครัวและสังคม นโยบายที่ดีก็ต้องกดไลก์รัวๆ ดีกว่าเอาเงินไปแจก “เลอะเทอะ” จริงไหม!

| คอลัมน์ : ฐานโซไซตี
| โดย : พริกกะเหรี่ยง
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3432 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค.2562
595959859