“หมอวิโรจน์” ปาฐกถา 100 ปี ชาตกาล ป๋วย เรียกร้องรัฐบาลลงทุนสุขภาพเต็มกำลังเพื่อความยั่งยืนของระบบ

09 มี.ค. 2559 | 09:55 น.
“หมอวิโรจน์” ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 15 “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน: หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลสัมฤทธิ์และความท้าทายในอนาคต” ชี้อุดมการณ์ป๋วยสร้างอิทธิพลและนำมาสู่รูปธรรมของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ที่ได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า เป็นสุขภาพดี-ไม่ต้องจ่ายแพง ระบุเมื่อดูตัวชี้วัดสุขภาพของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่ทรัพยากรสุขภาพ จำนวนแพทย์ พยาบาล และเตียงใน รพ.ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เรียกร้องรัฐบาลลงทุนด้านสุขภาพเต็มกำลังความสามารถและต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของระบบ

วันที่ 9 มีนาคม 2559 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เลขาธิการมูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพระหว่างประเทศ ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 15 หัวข้อ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน: หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลสัมฤทธิ์และความท้าทายในอนาคต” ว่า จากอุดมการณ์อาจารย์ป๋วย ที่เขียนในบทความเรื่อง คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน มีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงสวัสดิภาพของแม่และเด็ก และมีข้อความหนึ่งที่ระบุว่า “ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก” นั้น มีอิทธิพลสร้างแรงบันดาลใจให้นักปฏิวัติหลายท่านและได้นำมาสู่รูปธรรมของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยในที่สุด

นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้น เมื่อดูที่ประสิทธิภาพ ข้อมูลจากธนาคารโลก จะเห็นว่าอัตราการตายของเด็กต่ำกว่า 5 ปี ต่อการเกิดมีชีพ อัตราตายของมารดา และอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ซึ่งองค์การอนามัยโลกใช้เป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าด้านสุขภาพของประเทศ พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการตายที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอย่างมาก และเป็นหลักฐานที่แสดงว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านสุขภาพอยู่ในแนวหน้า ขณะเดียวกันจากรายจ่ายสุขภาพในระดับนี้ เมื่อเทียบกับสถานะสุขภาพ ทั้งอัตราตายเด็กต่ำกว่า 5 ปี อัตราตายของมารดา และอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ประเทศไทยจัดเป็นประเทศแถวหน้าที่มีประสิทธิภาพของระบบสุขภาพที่สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ในขณะที่เรามีบุคลากรทางการแพทย์และจำนวนเตียงในโรงพยาบาลต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

“แปลว่าประเทศไทยต้องมีสิ่งพิเศษที่ทำให้เกิด Good Health at Low Cost หรือ สุขภาพดี-ไม่ต้องจ่ายแพง ซึ่งผมอยากจะส่งต่อข้อมูลนี้ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ทุกวันนี้ประชาชนไทยไม่ต้องขายวัว ขายควายเพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ธนาคารโลกได้ให้ความเห็นว่า การลดรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนจะช่วยเพิ่มการลงทุนของประเทศได้”

นพ.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีสถานะสุขภาพของประชากรเมื่อวัดด้วยอัตราตายของเด็กและมารดาดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ประชาชาติและรายจ่ายสุขภาพต่อหัวประชากรใกล้เคียง ในขณะที่มีทรัพยากรสุขภาพเมื่อวัดด้วยจำนวนแพทย์ พยาบาล-ผดุงครรภ์ และจำนวนเตียงโรงพยาบาลต่อพันประชากรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้ระบบสุขภาพไทยเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง และทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐบาล และคนไทยทุกคนต้องภาคภูมิใจ หวงแหน และธำรงรักษาสุขภาพของไทยไว้ แต่การขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทยต่อจากนี้ก็ต้องขับเคลื่อนเรื่องการลงทุนสุขภาพ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนด้านสุขภาพต่อไปอย่างเต็มกำลังความสามารถและอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบในระยะยาว