พาณิชย์สรุปเงินเฟ้อปี 61 พุ่งแค่ 1% คาดปี 62 เฉลี่ยทั้งปี 1.2%

02 ม.ค. 2562 | 07:05 น.
พาณิชย์สรุปเงินเฟ้อปี 2561 สูงขึ้น 1.07% ยังอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ 0.8-1.6% ปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงาน ค่าเช่าเคหะสถาน ราคาสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวลดลง ชี้แนวโน้มปี 2562 คาดเฉลี่ย 1.2% จากราคาน้ำมันแนวโน้มขยับ ลงทุนภาครัฐ-เอกชนทิศทางดีขึ้น

นายสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อทั่วไป)ของเดือนธันวาคม 2561 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขยายตัว 0.36% (YoY) เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน แต่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยการชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้ มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาพลังงาน และการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตรบางชนิดตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นยังขยายตัวได้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.68%

ทั้งนี้ในรายละเอียดของเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2561 ที่เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 0.36% มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (ลดลง 0.65% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 2.12% และหมวดผักและผลไม้ (ลดลง 4.96%) โดยเฉพาะผักสด (ลดลง 4.08%) และผลไม้สด (ลดลง 2.86%) เนื่องจากสภาพอากาศในปีนี้เหมาะสมต่อผลผลิต ในขณะที่หมวดอื่นๆ ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ขยายตัว 0.90%) โดยเฉพาะหมวดข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เครื่องประกอบอาหาร เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคนอกบ้านและในบ้าน และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม (ขยายตัว 0.06%) ตามการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน (0.58%) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (0.55%) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ( 0.29%) รวมทั้ง หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และหมวดยาสูบ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขยายตัวเล็กน้อย 0.26% และ 0.19% ตามลำดับ

“เงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2561 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 ลดลง 0.65% ขณะที่ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2561 สูงขึ้น 1.07% ซึ่งอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.8-1.6% โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงาน ค่าเช่าเคหสถาน ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ในขณะที่อาหารสด โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานปี 2561 สูงขึ้น 0.71%”

595959859 ด้านดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธันวาคม 2561 ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยมีสาเหตุจากการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 1.0% โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และกลุ่มเม็ดพลาสติก ตามการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน, กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ตามปริมาณสต๊อกยางในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง, กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ตามการระบายสินค้ารุ่นเดิมก่อนจะผลิตรุ่นใหม่, กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้น 1.0% ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังสด และกลุ่มผักสดและผลไม้ รวมทั้ง สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอานิสงค์จากมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำของภาครัฐที่ได้ผล อย่างไรก็ตาม กุ้งแวนนาไม ผลปาล์มสด และยางพารา มีราคาลดลง สำหรับราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองสูงขึ้น 4.9% (ก๊าซธรรมชาติและแร่เหล็ก) ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธันวาคม 2561 เทียบเดือนพฤศจิกายน 2561 ลดลง 1.6% และเฉลี่ยปี 2561 สูงขึ้น 0.4%
สำหรับแนวโน้ม เงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2562 เฉลี่ยทั้งปีคาดจะอยู่ที่ประมาณ1.2% (0.7 – 1.7) เช่นเดียวกับเงินเฟ้อของปี 2561 โดยมีปัจจัยสำคัญจาก ราคาพลังงาน (Energy Price) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561 แต่ยังคง มีความเสี่ยงจากความผันผวนในโครงสร้างการผลิตและความต้องการโลก รวมทั้งบริบททางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารในประเทศ การลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีสัญญาณจากปัจจัยชี้นำต่างๆ ทั้งความคืบหน้าการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนเดิมที่ยังไม่แล้วเสร็จ และความสนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุนและการลงทุนในโครงการต่างๆ เพิ่มเติม

ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงมีแนวโน้มราคาในทิศทางที่ดีกว่าปี 2561 โดยเฉพาะราคาข้าว และมันสำปะหลัง ที่ยังมีผลผลิตต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ในขณะที่ปาล์มน้ำมันและยางพาราน่าจะมีสัญญาณที่ดีจากมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภาครัฐที่น่าจะทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นได้เมื่อเทียบกับปี 2561 ราคาสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (สอดคล้องกับ Producer price index: PPI) แต่ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการนำเข้า ทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมน่าจะมีทิศทางที่ปรับเพิ่มไม่มากนัก การส่งออก คาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและยังมีแรงส่งต่อเนื่อง ประกอบกับโอกาสในการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดมายังประเทศไทยยังมีอยู่สูง ทำให้การส่งออกน่าจะยังขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาและกำลังซื้อในประเทศ ค่าเงินมีทิศทางอ่อนค่า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศน้อยลง ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าและเพิ่มรายได้จากการส่งออก เป็นปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อ

“โดยรวม จากการคาดการณ์เบื้องต้น คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้เงินเฟ้อในปี 2562 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2561”นายสาวพิมพ์ชนก กล่าว

[caption id="attachment_368633" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]