"38 ม.ราชภัฏ" จับมือผลิต "ครู 4.0" รองรับศตวรรษที่ 21

02 ม.ค. 2562 | 05:30 น.
"38 มรภ." ลงนามความร่วมมือใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 38 แห่ง ในการใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ธ.ค. 2561 ณ อาคารศูนย์สุขภาพและกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยมี ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เข้าร่วม


IMG_20190102094620000000

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นช่วงของวิวัฒนาการการปรับเปลี่ยนในทุกสาขาวิชาชีพ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องครูเท่านั้น เพื่อจะให้การผลิตผู้เรียนตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งมีความเชื่อเสมอมาว่า ด้านของความสามารถคนไทยมิได้ด้อยไปกว่าชาติใด ๆ แต่อย่างใด ซึ่งการเรียนการสอนคณะครุศาสตร์ขณะนี้ ได้ปรับลดระยะเวลาเหลือ 4 ปี และไม่แน่ว่า ในอนาคตอาจลดลงไปอีกจนเหลือเพียง 3 ปี เนื่องจากหลักการของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก หรือ ในหลาย ๆ ประเทศ หลักสูตรปริญญาตรีทั่วไปในหลายสาขาวิชาใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งจะสอดคล้องและตอบโจทย์เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีช่องทางการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ผ่านสื่อเทคโนโลยี สื่อดิจิทัล อินเตอร์เน็ต และอีกมากมาย

นพ.อุดม กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ช่วยเสริมสร้างประเทศให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะการยกระดับทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เราหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ ครูจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการผลิตคนที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดงาน และผู้ประกอบการเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับกำลังฐานสมรรถนะมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสนใจในเรื่องของสถาบันการศึกษาลดลง

"การลงนามในครั้งนี้ เพื่อการใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง จึงนับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทยในการผลิตบุคลากรครูที่จะไปสอนให้ผู้เรียนมีสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 สอนนักศึกษาทั้งประเทศให้เป็นคนไทย 4.0 เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง เป็นคนไทยที่ทันสมัย ทันเทคโนโลยี ทันโลก และเป็นคนเก่ง สามารถแข่งขันและสร้างประโยชน์ให้กับทุกที่ที่ไปอยู่ ทั้งในประเทศและเวทีระดับโลก"


IMG_20190102094613000000

ด้าน ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวในนามของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ว่าการฝึกหัดครูและการพัฒนาครู ถือเป็นรากเหง้าของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตั้งแต่เป็นโรงเรียนฝึกหัด วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ จนมาถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน ซึ่งข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มากกว่าครึ่งเป็นครูที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะฉะนั้น มรภ. ได้ตระหนักเสมอว่า การผลิตและการพัฒนาครูเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัย ประกอบกับพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทำคุณประโยชน์ในการพัฒนาคน และพัฒนาครูในท้องถิ่น

"ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 - 2579 เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นเลิศ โดยกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ตลอดจนก้าวไปสู่หลักสูตรสากล ที่ช่วยพัฒนาครูที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทัดเทียมนานาประเทศ"

 

[caption id="attachment_368633" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง และประธานคณะทำงานปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน จำนวน 7 หลักสูตร และพยายามที่จะขยายไปให้ถึง 27 หลักสูตร ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมปรับปรุงเชิงคุณภาพ ให้เป็นหลักสูตรที่มีความสมบูรณ์ เหมาะสม และสอดคล้องกับสมรรถนะครูในทุก ๆ ภาคส่วน

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า หลักสูตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะที่มีความเป็นสากล โดยมีสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม คือ ด้านการเรียนการสอน การพัฒนานักเรียน นักศึกษา ที่เน้นการปฏิบัติกิจกรรมมากขึ้น พร้อมทั้งจะมีการพัฒนาครูอาจารย์ด้านการศึกษา และการนำหลักสูตรมาปรับใช้ในทางวิชาการต่อไป

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว