ระวัง!!! พืชเกษตรป่วนรัฐบาลใหม่ รอวันกดปุ่ม “ม็อบ”

29 ธ.ค. 2561 | 23:39 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ระวัง!!! พืชเกษตรป่วนรัฐบาลใหม่

รอวันกดปุ่ม “ม็อบ”

การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 นี้ ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ เหมือนปีหมู   เพราะมีเรื่องเร่งด่วนหลายเรื่อง ที่ท้าทายการทำงาน  โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน  ที่ขณะนี้เดินไปทางไหนก็ได้ยินแต่เสียงบ่นจากกลุ่มรากหญ้าว่าข้าวของแพง  ค่าใช้จ่ายพุ่ง  เงินในกระเป๋าลดลง

และที่มองข้ามไม่ได้ คือการเข้ามาแก้ปัญหาราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตร ที่เวลานี้มีพืชเกษตรหลายตัวที่ราคาไม่ขยับ  จนเกษตรกรหลายกลุ่มเริ่มมีเสียงฮึ่ม! ฮึ่ม! ออกมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา  แต่ที่น่าจับตาหลังเลือกตั้งผ่านไปสักระยะ ทิ้งช่วงจังหวะให้รัฐบาลใหม่แสดงบทบาท  เชื่อว่าหลังจากนั้น ถ้ารัฐบาลยังไม่สามารถปลดล็อกปัญหาเดิมๆได้ !  การเคลื่อนไหวของม็อบเกษตรกรเกิดขึ้นแน่  ไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่งต้องลุกฮือขึ้นมา!

-5กลุ่มราคายังปลุกไม่ขึ้น

ย้อนกลับมาดูปัญหาจากภาคเกษตรกร ไล่เลียงพืชเกษตรเด่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวตลอดปี 2561 มีหลายตัว ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้  ตั้งแต่ราคา สับปะรด  อ้อย  ปาล์ม  มะพร้าว  ยางพารา แม้บางกลุ่มขยับได้บ้างเล็กน้อย  แต่ชาวไร่ ชาวสวนบอกว่ายังไม่คุ้มทุน  ลงทุนไปเยอะแต่ผลสะท้อนกลับยังอยู่ในภาวะขาดทุนกันเป็นแถว

แช่แข็งราคาพืช โอ

ไล่ตั้งแต่ราคาสับปะรดในช่วง 11 เดือนแรกปี 2561 ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 2.98 บาทต่อกิโลกรัม (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี)  จากที่เมื่อปี 2558 ราคาสับปะรดเคยเฉลี่ยสูงถึง 10.29  บาทต่อกิโลกรัม  เป็นช่วงราคาที่สูงสุด ซึ่งในขณะนั้นพอราคาดีเป็นที่จูงใจ เกษตรกรก็แห่ปลูกกันพรึ่บ!  โดยไม่มีการวางแผนการตลาดที่ดี   ปีนี้คาดว่าผลผลิตสับปะรดจะมีปริมาณออกมามากถึง 2.1 ล้านตัน   ขณะที่การส่งออกสับปะรดกระป๋อง ไทยยังมีคู่แข่งสำคัญ คือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่มีผลผลิตสับปะรดมาก  จนทำให้มีการแข่งขันด้านราคาสูง  และ 2 ประเทศดังกล่าวก็ยังได้เปรียบไทยตรงที่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯด้วย

ขณะที่ราคามะพร้าว ก่อนหน้านี้รัฐบาลห้ามนำเข้า “มะพร้าว” จากอินโดนีเซีย แต่ก็ยังเปิดให้นำเข้ามะพร้าวจากเวียดนามและมาเลเซีย   บวกกับผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศดีขึ้น  จนมะพร้าวล้นตลาด  ทำให้ราคาในประเทศร่วงกราวรูด เหลือลูกละ 4-5 บาท จนล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6-7 บาทต่อลูก  จากที่ก่อนหน้านี้ราคามะพร้าวเคยสูงถึงลูกละ 12-14 บาท ทำให้บรรดาชาวสวนมะพร้าวออกมากดดันกระทรวงที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะ

-กลุ่มปาล์มขู่“ม็อบมาแน่ หลังเลือกตั้ง”

ด้านราคาปาล์ม เป็นอีกกลุ่ม ที่ผลผลิตในประเทศล้น  และไทยก็ยังเน้นที่ตลาดในประเทศเป็นหลัก  จนวันนี้ราคาร่วงลงมาที่ 2.50-3 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.15  บาทต่อกิโลกรัม  จากที่ราคาเคยสูง 4-5 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อปี 2555  จนถึงขณะนี้ราคาปาล์มยังต่ำติดดิน ขณะที่ราคาในตลาดโลกก็ไม่ดี

การแก้ปัญหาปาล์มราคาตกต่ำ แม้ว่าภาครัฐพยายามหาทางออก  หลังจากมีมติออกมาให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)ส่วนเกินจำนวน 160,000 ตัน ในราคากิโลกรัม (กก.) ละ 18 บาท เมื่อคำนวณกลับไปเป็นราคาผลปาล์มที่ 3.20 บาทต่อกิโลกรัม ในเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% ขณะที่ราคาผลปาล์ม ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2561 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.60-2.70 บาทต่อกิโลกรัม  จนถึงขณะนี้ก็มีแต่มาตรการแต่ยังไม่มีการปฎิบัติ ได้จริง

งานนี้ทำเอา นายชโยดม   สุวรรณวัฒนะ ประธานชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมัน จังหวัดกระบี่  ถึงกับออกมาขู่คำโตว่า “ม็อบมาแน่ หลังเลือกตั้ง วันนี้ต้องยอมกัดฟันทน เพราะไม่อยากตกเป็นแพะของรัฐบาล  เดี๋ยวจะมาอ้างภายหลังว่าเป็นเพราะม็อบทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป”  จากคำขู่นี้มีลุ้นยังต้องติดตามต่อไปหลังเลือกตั้ง

ปาล์ม

สำหรับยางพาราที่ราคานิ่งมาต่อเนื่อง ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2561 ยางแผ่นดิบชั้น 3ที่นิยมซื้อขายกัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 41.52 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาเฉลี่ยเคยสูงสุดเมื่อปี 2554 อยู่ที่ 124.16 บาทต่อกิโลกรัม  ในขณะนั้นบางเดือนราคายางพาราก็สูงถึง 180 บาทต่อกิโลกรัม  จนมีข่าวชาวสวนยางภาคใต้ถอยรถกะบะป้ายแดงกันเป็นแถว

ที่น่าหนักใจคือ 2 ปีมานี้ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ยางภายในประเทศยังไม่ถึง 20%  ไทยยังพึ่งพาตลาดส่งออกสูงถึง 90%  จากที่ผลผลิตยางพาราไทยเฉลี่ยตกปีละกว่า 4 ล้านตันต่อปี    เจอทั้งผลผลิตล้นตลาด  ราคายางในตลาดโลกร่วง  อีกทั้ง จีนผู้นำเข้ารายใหญ่สู้ศึกสงครามการค้ากับอเมริกา ทำให้ผลิตภัณฑ์ยางส่งออกไปอเมริกาลดลง  จีนจึงต้องลดการนำเข้ายางจากไทยไปด้วย

ปัจจัยปัญหา โอ

-ต้องลุ้นราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

ส่วนพืชการเมืองอย่างอ้อย  ที่บรรดานักการเมืองมักลงพื้นที่หาเสียงกับชาวไร่อ้อยก่อนเลือกตั้ง หวังเรียกคะแนนเสียงจากชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ  ที่ราคาอ้อยก็ยังมีความเสี่ยง ตราบใดที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกร่วง ย่อมสะเทือนถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อย  เพราะราคาจะรูดลงตามกันเป็นลูกโซ่  อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ มาจากปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกันหลายส่วน

ราคาน้ำตาลดิบปีนี้เคลื่อนไหวตั้งแต่ 11-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ จนวงการหวั่นวิตกว่าจะดิ่งหลุดกรอบ 10 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ปลายปี2561 ราคาน้ำตลาดดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ 12.4 เซ็นต์ต่อปอนด์  ยังถือว่าอยู่ในแดนของราคาขาลง ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/2562 ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ร่วงมาอยู่ที่ 700 บาทต่อตันอ้อย  เทียบกับราคาอ้อยในช่วง2ปีที่ผ่านมา สูงกว่าระดับ 1,000  บาทต่อตันอ้อย  หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่จะประกาศออกมาช่วงปลายปี 2562 ร่วงลงอีก ก็น่าจับตาปฏิกิริยาชาวไร่อ้อยหนนี้

ประเมินสถานการณ์แล้ว ดูเหมือนว่า ต้นเหตุราคาน้ำตาลร่วงกระทบราคาอ้อย มาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ที่มีปริมาณ นํ้าตาลโลกส่วนเกินล้นติดต่อกัน 2 ปี ทำให้เกิดผลผลิตนํ้าตาลมากกว่าความต้องการใช้ ที่ก่อนหน้านี้  F.O.licht บริษัทวิจัยในเยอรมนี ออกมาระบุว่า ช่วง 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2561 มีปริมาณนํ้าตาลในสต๊อกโลกที่เป็นส่วนเกินอยู่จำนวน 7.2 ล้านตันนํ้าตาล นับว่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มว่าในฤดูการผลิตปี 2561/2562  จะมีสถิตินํ้าตาลโลกเกินต่อเนื่องอีก

นอกจากนี้เมื่อดูความเคลื่อนไหวของค่าเงินเรียล ของบราซิล เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าค่าเงินเรียลอ่อนค่าลงจะทำให้บราซิลขายนํ้าตาลออกมามากขึ้น ทำให้ราคานํ้าตาลตกลง ซึ่งการที่ราคานํ้าตาลในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์ นับว่าเป็นราคาที่ตํ่ากว่าต้นทุน ปี 2562 ก็ยังต้องจับตาดูค่าเงินเรียลเป็นระยะเพราะบราซิลเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 1ของโลกและต้องติดตามว่าบราซิลจะนำน้ำอ้อยไปผลิตน้ำตาลหรือเอทานอลเป็นหลัก

ขณะที่รัฐบาลอินเดียก็ออกมาประกาศชัดเจนว่า จะอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลในประเทศของตัวเองด้วยการส่งออกนํ้าตาลทราย จํานวน 5 ล้านตัน และอนุมัติงบช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งนํ้าตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ทั้งที่ขัดกับข้อตกลง WTO และเป็นการบิดเบือนตลาดนํ้าตาลโลก    อีกทั้งการเคลื่อนไหว ของกองทุนและนักเก็งกำไรที่ถือตั๋วขายนํ้าตาลที่มีผลต่อราคานํ้าตาลในตลาดโลกด้วย

11-3431.indd

ปัญหา สินค้าเกษตร5 กลุ่มตกต่ำ ยังไม่รวมปัญหาราคา “มันสำปะหลัง” เริ่มเคลื่อนไหวหลังราคาร่วงมาอยู่ที่ 2.50 บาท แต่เกษตรกรขายได้จริงในราคาที่ต่ำกว่านั้น  อีกทั้งปัญหา “ประมง”  ที่รอวันปะทุใหม่

ภารกิจของรัฐบาลหลังเลือกตั้งบอกได้เลยว่าเหนื่อย!     ลำพังวิ่งรับมือกับสงครามการค้าลามสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยากอยู่แล้ว  การแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรก็จะเป็นอีกโจทย์ยากที่ต้องรับมืออย่างเร่งด่วน  หากปล่อยให้เวลาลากยาวต่อไปโดยผลงานไม่ปรากฏ ก็ต้องผวากับขบวนม็อบที่รอวันกดปุ่มขับเคลื่อน  ต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐจะมีทางออกอย่างไร กับปัญหาเดิมๆที่วนเวียนกลับมาอีก!

595959859