‘เอื้อและแบ่งปัน’แนวทางการเติบโตกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและบีเอ็นเอช

05 ม.ค. 2562 | 01:44 น.
“เอื้อและแบ่งปัน” ฟังดูแล้วเหมือน จะไม่ค่อยเข้ากันกับการทำธุรกิจ แต่สำหรับการบริหารในโลกยุคใหม่ “น.พ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช บอกว่า เป็นสิ่งจำเป็น และเป็นกลยุทธ์สำคัญ ที่ผลักดันธุรกิจของกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและบีเอ็นเอช เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

นับจากวันที่ก้าวจากโรงพยาบาลหัวเฉียว มานั่งทำหน้าที่ซีอีโอ ให้กับกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช “คุณหมอชัยรัตน์” ได้นำแนวคิด “เอื้อและ แบ่งปัน’” มาเป็นแนวทางการบริหารตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการพูดคุยถึงทำความเข้าใจและรับรู้ความต้องการของคนในชุมชน แล้วนำมาปรับให้สมิติเวชจากโรงพยาบาลไฮโซ คนทั่วไปเข้าไม่ถึง กลายเป็นโรงพยาบาลที่คนระดับกลางสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีการปรับลดอัตราค่าบริการ ในสัดส่วนที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสม โดยทั้งหมดยังตั้งอยู่ในแนวทางการทำธุรกิจ ที่ต้องมีอัตรากำไร 12-13% เป็นการเอื้อให้ผู้ป่วยที่พอมีกำลังไม่ต้องไปนั่งรอบริการจากโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก ขณะเดียวกันโรงพยาบาลของรัฐที่ขาดหมอ ก็แบ่งปันหมอจากกลุ่มสมิติเวชเข้าไปช่วยเหลือ เป็นการแบ่งปันซึ่งกันและกัน คนที่พอมีกำลังจ่ายก็ไม่ต้องไปนั่งคอยนาน

MOOK9272

สิ่งที่ “คุณหมอชัยรัตน์” เน้นยํ้าคือ การเอื้อและแบ่งปัน ซึ่งวันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นก็ย้อนกลับคืนมา เช่น การทำให้โรงพยาบาลมีผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ พร้อมๆ ทั้งการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาเสริม เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ต่อเนื่องเช่น นวัตกรรมผ่านมือถือ (Mobile Health) กับการจัดทำแอพพลิเคชันสมิติเวช พลัส, ไลน์สมิติเวช, Samitivej PACE ระบบติดตามสถานะการผ่าตัดผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และ Ward Tracking ที่สามารถวางแผนการรักษาและกำหนดเวลาร่วมกับแพทย์ และทีมสำหรับผู้ป่วยใน ทำให้สามารถตรวจเช็กทุกอย่างได้ผ่านมือถือ นัดคิวหมอได้ก่อน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา

ที่ผ่านมา กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช มีการปรับเปลี่ยนมาตลอด โดยเริ่มต้นด้วยการปรับความคิด (Mindset) ของคนทำงาน โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว เริ่มจากผู้บริหารระดับสูง ที่ต้อง Re-skill ทั้งหมด ทำการ Retrain, Reboot, ReLearn เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ความรู้ความเข้าใจแบบเดิมๆ ไม่สามารถใช้ได้ เมื่อมีการปรับ Reskill ผู้บริหารเข้าใจ ก็จะถ่ายทอดวิทยายุทธ์พวกนี้ลงไปยังคนทำงาน ทำให้ทุกคนรู้เท่าทันความต้องการของผู้บริโภค...“คุณหมอชัยรัตน์” ยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก ถ้าเราเอาจริงเอาจัง และโฟกัสสุดท้ายของเรื่องสุขภาพมันคือ เรื่องบริการการสัมผัส การใส่ใจ การเข้าใจ รู้ใจเขาใจเรา พวกนี้สำคัญมากกว่า ดิจิตอลเทคโนโลยี ผู้บริหารโดยเฉพาะตัวคุณหมอเอง ต้องมีการพูดคุย สื่อสารถึงพนักงานบ่อยๆ จนเกิดความเข้าใจ

“หลักการบริหารของผม คือ ทุกคนต้องไม่เป็น Man of Success ทุกคนต้องไม่ใช่แค่ต้องประสบความสำเร็จ ผมอยากให้ทุกคน เป็น Man of Value เป็นคนที่สร้างคุณค่า ไม่ใช่แค่สร้างตัวเลขให้ดูดีเฉพาะตัวเอง...เมื่อก่อนแค่เก่งอาจจะเพียงพอ แต่ตอนนี้มันไม่ได้ มันต้องปรับ ทุกคนต้องรู้จักเอื้อและแบ่งปัน ประสาน และทำงานเป็นทีม บนเส้นทางเดียวกัน พลังมันจะเกิดมหาศาล”

เป้าหมายสูงสุด ของคุณหมอนักบริหารคนนี้ คือ ไร้เป้าหมาย ถ้าทำให้ทุกคนเชื่อมั่น และไว้ใจได้ นั่นคือ ความสำเร็จ แน่นอนว่า เขาไม่ต้องการเห็นคนป่วย แต่เมื่อป่วย เขาต้องนึกถึงโรงพยาบาลของเรา เพราะเขาเชื่อว่าเรารักษาให้เขาหาย จากที่ต้องมาโรงพยาบาล 5 ครั้ง ลดเหลือ 3 ครั้ง แสดงว่าเขาเห็นถึงความจริงใจว่าเราไม่อยากให้คุณป่วย เป้าหมายสูงสุด คือ ความเชื่อมั่น ถ้าเขาไว้ใจเรา ก็จบ มันไปต่อของมันได้ ทำอย่างไรให้ประชาชนไว้ใจ ไม่ใช่ไปเอาเงินเขามาเรื่อยๆ เราต้องไปช่วยซัพพอร์ต ไม่ให้เขาต้องป่วย หรือต้องรอนานเหมือนมาโรงพยาบาล

[caption id="attachment_367778" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

คุณหมอ บอกอีกว่า การบริหารธุรกิจโรงพยาบาล มันยากที่คน แต่จริงๆ มันยากที่แต่ละคนต้องบริหารตัวเองให้เป็น บริหารคนแท้จริง คือ บริหารตน บริหารตนได้ บริหารคนก็ง่าย ถ้าเราบริหารตัวเองได้ เราจะเข้าใจทุกคน ทุกชีวิตได้ รับรู้ได้ว่าเขาคิดอะไร ต้องการอะไร เมื่อบริหารตนเองได้ จะรู้ว่าตัวเองต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร

หลักคิดและการบริหาร ที่ให้ความสำคัญทั้งการเอื้อและแบ่งปัน การนำนวัตกรรมมาเสริมประสิทธิภาพของบริการ พร้อมกับการพัฒนาความคิดของคนทำงาน ให้ไปในแนวทางเดียวกัน โดยพยายามให้คนป่วยน้อยลง มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้กลุ่มธุรกิจของโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เติบโตอย่างรวดเร็ว โดย 10 เดือนแรกของปี 2561 สามารถเติบโตได้ถึง 10% จากรายได้รวมทั้งกลุ่มกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท และคุณหมอยังเชื่อมั่นว่า ธุรกิจในเครือจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการขยายพื้นที่บริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทั้ง โรงพยาบาลเฉพาะกลุ่ม อย่างโรงพยาบาลสำหรับคนญี่ปุ่น และการขยายตัวเข้าไปในบริการในตลาดอีอีซี ซึ่งต่างชาติมีความต้องการการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากล

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,432 วันที่  3 - 5 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859