NIAเผย 5 สิ่งสุดว้าวชายแดนใต้พลิกโฉมของท้องถิ่นด้วยนวัตกรรม

28 ธ.ค. 2561 | 10:28 น.
ต้องยอมรับว่า “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นเครื่องมือนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและการตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งในวันนี้ “นวัตกรรม” ยังถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศไทยที่หลายๆภาคส่วนกำลังเร่งนำมาใช้ในการยกระดับสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพชีวิตให้ก้าวสู่ไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หลายคนที่รู้จักคำว่านวัตกรรมอาจคิดว่าสิ่งเหล่านี้มักจะเกิดหรือถูกพัฒนาขึ้นแค่ตามเมืองใหญ่ๆ เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นที่หลักของประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “วันนี้” นวัตกรรมได้ถูกแพร่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงความเท่าเทียมของเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงสิ่งใหม่ที่ทุกคนในทุกภาคส่วนจะได้รับอย่างเท่าๆกัน

พินซูค_2

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้ความสำคัญกับการนําเอาทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นมาใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังได้รับการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเข้มข้นในปัจจุบันก็คือ “พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งเป็นภูมิภาคที่สามารถเติมเต็มได้ทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ การบริการ การต่อยอดอัตลักษณ์ทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ให้โมเดิร์นมากกว่าที่เคยเป็น ซึ่งวันนี้มี 5 กลุ่มธุรกิจตัวอย่างที่แปรรูปปัญหามาสู่เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างยอดเยี่ยม คือ

พินซูค_4

*“พินซูก” ยกสินค้าฮาลาลมาขึ้นออนไลน์ สั่งง่ายแค่ปลายนิ้ว
พินซูก คือเว็บไซต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้แนวคิดการเป็นแหล่งช้อปปิ้งฮาลาลออนไลน์ ที่มีสินค้าให้เลือกซื้อหลากหลาย โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง อาทิ อินทผาลัม เกลือหิมาลัย สินค้าออแกนิกเพื่อสุขภาพ รวมถึงอาหารแช่แข็งซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม สำหรับการเกิดขึ้นของพินซูกนั้นถือว่ามาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา เนื่องจากอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของพื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมของชาวมุสลิม ช่วยให้ง่ายต่อการทำตลาดและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงยังเป็นแพลทฟอร์มที่มีจำนวนคู่แข่งน้อยเนื่องจากเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม สามารถสร้างความภักดีต่อแบรนด์ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ การทำงานของพินซูกนอกจากจะช่วยให้คนในพื้นที่จับจ่ายใช้สอยสินค้าได้อย่างสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับกลุ่มสินค้าฮาลาลคุณภาพจากทั่วประเทศที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร้านสะดวกซื้อชั้นนำ ได้มีช่องทางในการกระจายสินค้าสู่กลุ่มผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ด้มากขึ้นอีกด้วย

พินซูค_5

“ฟิน” เดลิเวอรี่ส่งสินค้า ขจัดทุกปัญหาการจ่ายตลาด
ไลน์แมน ,แกร็บ, ฟู้ดแพนด้า ,สกูต้าหลบไป เพราะนาทีนี้ที่ปัตตานีมีแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “ฟินเดลิเวอรี่” ทางเลือกใหม่ในการสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบจากตลาดสดที่ส่งตรงถึงหน้าบ้าน สำหรับการทำงานของแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอุปสรรคในการจับจ่ายใช้สอยของเหล่าพ่อบ้านแม่บ้านที่ไม่ค่อยมีเวลา ภารกิจรัดตัว หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ ด้วยการรับคำสั่งซื้อ พร้อมขนส่งสินค้าและวัตถุดิบไปถึงหน้าร้าน หน้าบ้าน ออฟฟิศ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถนำช่วงเวลาดังกล่าวนั้นไปใช้ในการจัดการธุระ หรือจัดการภารกิจงานบ้านได้มากยิ่งขึ้น ด้านกลยุทธ์ในการให้บริการฟินเดลิเวอรี่ ใช้รูปแบบธุรกิจผู้ประกอบกับผู้ประกอบการ (Business to Business) ในการดำเนินงานเบื้องต้น จากนั้นจึงขยายเข้าสู่รูปแบบจากผู้ประกอบการถึงมือลูกค้า (Business to Consumer) ที่เน้นการสั่งง่าย ส่งไว และในอนาคตจะมีการขยายตลาดไปยังตัวเมืองในสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงการขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

ฟินเดลิเวอรี่_1

ฟินเดลิเวอรี่_3

“เบญจเมธา” เซรามิกจากเนื้อดินจึงงา รังสรรค์มูลค่าด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัว
หลายคนอาจไม่คาดคิดว่า ภาคใต้ชายแดนก็มีการทำเซรามิก และทำได้ดีไม่แพ้แหล่งที่มีชื่อเสียงอย่างลำปาง บ้านเชียง หรือแม้กระทั่งเกาะเกร็ด นนทบุรีเสียด้วย แรกเริ่มเดิมทีธุรกิจดังกล่าวได้นำดินจากทางภาคเหนือที่เชื่อกันว่าเป็นดินดีมีคุณภาพสำหรับงานเซรามิก มาปั้นเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ต่อมาค้นพบว่าเนื้อดินในท้องถิ่น อ.ปะนาเระที่ชื่อว่า “ดินจึงงา” ก็สามารถพัฒนาให้เป็นสินค้าประเภทเดียวกันได้ จึงเริ่มนำมาทดแทนวัตถุดิบเดิม ซึ่งช่วยทั้งในการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต สร้างอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และมีประสิทธิภาพทางการใช้งานที่ดีเยี่ยม

เซรามิก_1

สำหรับความพิเศษของเซรามิกเบญจเมธานั้น เน้นการใช้ศิลปะแบบอิสลามิก คือมีความ เรียบง่าย บางรูปแบบมีการผสมผสานอักษรอาหรับ เพื่อสื่อถึงความเป็นมุสลิม มีการเชื่อมโยงถึงเรื่องราววิถีชีวิต ธรรมชาติ และท้องทะเลใน อ.ปะนาเระ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สิ่งที่สามารถทำให้ธุรกิจดังกล่าวยังยืนหยัดอยู่ได้คือการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ที่ปรับคุณสมบัติของเนื้อดินและน้ำยาเคลือบ หัวใจสำคัญของสินค้าเซรามิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังสืบทราบมาอีกว่าเซรามิกจากเบญจเมธา สามารถต่อยอดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้อย่างดีในกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ เช่น โรงแรม สถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนชื่นชอบความแตกต่างและความไม่เหมือนใครที่สามารถผสมผสานได้อย่างลงตัว

เซรามิก_3

เซรามิก_4

กรือโป๊ะนัสรีน ขนมขบเคี้ยวภูมิปัญญาท้องถิ่นบินสู่โมเดิร์นเทรด
ข้าวเกรียบปลาทอดกรอบ หรือกรือโป๊ะ เป็นของขบเคี้ยวที่นิยมทานกันมากในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมคือ “นัสรีน” เนื่องจากความมีคุณภาพของสินค้าและรสชาติที่อร่อยถูกใจผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ตามมาก็คือ กำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่ยังใช้กำลังคน และการถูกปฏิเสธการขนส่งเครื่องจักรมายังในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมระบบการผลิตแบบกึ่งอัตโนมัติร่วมกับ NIA และทีมผู้เชี่ยวชาญจาก ม.สงขลานครินทร์ ในกระบวนการนวดผสมและขึ้นรูปกือโป๊ะ แบบแท่ง และกระบวนการลดอุณหภูมิก่อนนำไปทอดด้วยเครื่องเป่าลมร้อนแบบพุ่งชน ซึ่งทำให้ทุกวันนี้สามารถผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อได้ทัน พร้อมต่อยอดสู่การพัฒนาด้านรสชาติที่มากถึง 8 รส เช่น ต้มยำกุ้ง สไปซี่ สาหร่าย พริกไทยดำ ทั้งยังทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง

กรือโป๊ะ_5

กรือโป๊ะ_2

ยี่เทียนทัวร์ แพลตฟอร์มนำเที่ยวแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ
ยี่เทียนทัวร์ (Yitiantour) คือแพลตฟอร์มให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยอาศัยเทคโนโลยี Web application , Mobile Application , AI และ Data visualization ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีพฤติกรรมการเที่ยวแบบอิสระ ด้วยการจับคู่ความต้องการซื้อและความต้องการขายทัวร์ของเอเจนซี่ไทยให้เข้าถึงตลาดของนักท่องเที่ยวจีนแบบออนไลน์ และให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวไทยใช้ระบบฟรี ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเข้าถึงข้อมูล วางแผนการเดินทาง ศึกษาเส้นทาง เวลา และตัดสินใจซื้อแพ็คเกจทัวร์ไทยได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา สำหรับระบบดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือนายหน้านำเที่ยวที่ขายแพ็กเกจทัวร์แบบผิดกฎหมาย ทั้งยังเป็นสื่อกลางในการสร้างภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวที่ดี รวมถึงลดข้อจำกัดทางด้านภาษาด้วยข้อมูลที่แม่นยำและถูกต้อง

ยี่เถียนทัวร์_2

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เผยว่า กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และความโดดเด่นในแง่ของสภาพทางภูมิศาสตร์ ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และเส้นทางคมนาคมที่ควรค่าแก่การยกระดับสู่แหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เสน่ห์อีกหนึ่งอย่างที่ไม่เหมือนใครคือศักยภาพด้านสินค้าและบริการ ฮาลาลที่หากได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นเชื่อว่าจะไปได้ไกล สามารถรองรับผู้บริโภคได้ในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ภายใต้การสนับสนุนของ NIA นอกจากจะให้ปัจจัยที่สำคัญอย่างทุนทรัพย์เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในธุรกิจนวัตกรรมแล้วนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมบ่มเพาะให้ความรู้ และเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญจากทุกภูมิภาค

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มให้ทั้งผู้ประกอบการไทยทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ หรือผู้สนใจในการจัดตั้งธุรกิจนวัตกรรม สามารถนำไปเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ยังมั่นใจอีกว่าบริบทในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมให้กับกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การจัดการด้านสังคม ซึ่งหลายภาคส่วนควรร่วมช่วยกันเพื่อให้การเติบโตในระดับท้องถิ่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ยี่เถียนทัวร์_3

สำหรับการดำเนินกิจกรรมในปีถัดไป NIA ได้จัดงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ “การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs/Startup ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ไว้ทั้งสิ้น 22.4 ล้านบาท ซึ่งมุ่งที่จะขยายผลนวัตกรรมเดิม รวมทั้งบูรณาการงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาใช้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักสนับสนุนการผลิตและธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสล.) กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YES) จัดประชุมเพื่อบูรณาการแผนการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในปี 2562 ตามกรอบความร่วมมือ และรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

595959859