จับตา! ปี 62 "ค่ายมอเตอร์ไซค์" ขยายฐานผลิตบุกไทย

02 ม.ค. 2562 | 03:09 น.
ตลาดรถจักรยานยนต์ของไทยในปี 2561 ค่อนข้างชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นที่ทำได้ 1.8 ล้านคัน โดยตัวเลขสะสมของปี 2561 (ม.ค. - พ.ย.) ทำได้ 1.651 ล้านคัน และคาดว่าตัวเลขของทั้งปี 2561 จะไม่เกิน 1.8 ล้านคัน ซึ่ง 3 อันดับแรก ยังคงเป็นของ 'ฮอนด้า' ที่ทำได้ 1.290 ล้านคัน, 'ยามาฮ่า' 2.5 แสนคัน และ 'จีพีเอ็กซ์' 2.7 หมื่นคัน

ขณะที่ ในกลุ่มพรีเมียมแบรนด์ 'ไทรอัมพ์' แม้ยอดขายจะลดลงแต่ยังเป็นเบอร์ 1 ด้วยจำนวน 2,363 คัน, บีเอ็มดับเบิลยู 1,989 คัน, ดูคาติ 826 คัน และฮาร์ลีย์-เดวิดสัน 763 คัน


motor 1

แม้ในภาพรวมตลาดสองล้อจะลดลง แต่ข่าวคราวความเคลื่อนไหวจากบรรดาผู้ผลิตรถจักรยานยนต์หลาย ๆ แบรนด์ ยังคงมีความสนใจจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย ทั้งนี้ เพราะหลายค่ายใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก ทั้งในแง่ของจักรยานยนต์ทั้งคัน (CBU) หรือชิ้นส่วน (CKD) ที่ส่งออกเพื่อนำไปประกอบในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามข้อตกลงการค้า อาทิ อาฟต้า, JTEPA

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและเพิ่งเปิดโรงงานในไทยไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ ค่ายฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ที่หลังจากโรงงาน จ.ระยอง พร้อม ก็จัดการส่งรถออกจากไลน์ถึง 14 รุ่นย่อย และแน่นอนว่า การผลิตจากโรงงานในประเทศก็มีผลทำให้ราคาจำหน่ายต้องลดลง เมื่อเทียบกับราคานำเข้าทั้งคัน โดยราคาใหม่ที่ "ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" ได้ประกาศออกมานั้น ลดสูงสุดถึง 5 แสนบาท

ผลจากการปรับลดราคา รวมไปถึงกลยุทธ์การตลาดอย่างเข้มข้นของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ทำให้ยอดจดทะเบียนในตอนนี้สูงกว่ายอดของปีที่ผ่านมา ที่ทำได้ 783 คัน แถมล่าสุด ออกงานอีเวนต์ใหญ่ อย่าง "มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2018" ก็กวาดยอดจองไป 358 คัน

... เรียกว่า ยอดขายปีนี้ใครไม่โต แต่ "ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" โต!


ส่วนอีกหนึ่งแบรนด์ที่เปิดตัวรถให้เห็นตั้งแต่ต้นปี 2561 และเปิดขายอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2018 จำนวน 5 รุ่น คือ ค่าย "ซีเอฟ โมโต" แบรนด์รถจากประเทศจีน แต่ใช้โรงงานในประเทศไทย (โรงงานที่ผลิตรถจักรยานยนต์จีพีเอ็กซ์) เป็นผู้ผลิตให้ ซึ่งเป้าหมายของ "ซีเอฟ โมโต" คือ การใช้ไทยเป็นฮับของอาเซียนในอนาคต

ด้านปี 2562 ค่ายที่แว่ว ๆ มาว่าจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทย ได้แก่ ค่าย "รอยัล เอนฟิลด์" แบรนด์เก่าแก่จากประเทศอังกฤษ ที่แต่เดิมทำตลาดโดย บริษัท เจเนอรัล ออโต ซัพพลาย จำกัด ที่ได้สิทธิเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนดีลเลอร์ที่ได้รับการแต่งตั้งจำนวน 9 แห่ง และมีประชากรรถ "รอยัล เอนฟิลด์" ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนมากกว่า 3,000 คัน




Royal Enfield at Motor Expo 2_TWINS

อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมา บริษัทแม่ได้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ ภายใต้ชื่อ บริษัท รอยัล เอนฟิลด์ (ไทยแลนด์) และจะโฟกัสที่ตลาดประเทศไทย รวมไปถึงประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการเข้ามาของบริษัทแม่นี่เอง ทำให้แนวโน้มของการตั้งโรงงานในไทยนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น

สำหรับ "รอยัล เอนฟิลด์" มีโรงงานตั้งอยู่ที่เมืองเชนไน ประเทศอินเดีย ส่วนโรงงานในประเทศที่มีการคาดการณ์ว่าจะเข้ามาตั้งนั้น ในเบื้องต้น ประเมินว่าจะผลิตรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่ยังไม่มีขายในประเทศ และคาดว่าโรงงานจะเริ่มก่อตั้งในช่วงปลายปี 2562 และจะเริ่มผลิตจริงในปี 2563 ปัจจุบัน "รอยัล เอนฟิลด์" มีรุ่นที่ทำตลาด ได้แก่ บุลเล็ต 500, คอนติเนนทัลจีที, คลาสสิก และฮิมาลายัน มีราคาจำหน่ายเริ่มต้น 1.68-2.19 แสนบาท และล่าสุด ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2018 ได้เปิดตัวและเปิดรับจองรถรุ่นใหม่ "อินเตอร์เซปเตอร์ 650" และ "คอนติเนนทัล จีที 650" ซึ่งถือเป็นรุ่นใหม่ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 2 สูบเป็นครั้งแรก และจะส่งมอบในต้นปี 2562


แอดฐานฯ

โดย "รอยัล เอนฟิลด์" มียอดจองในงาน "มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2018" จำนวน 444 คัน ขณะที่ ยอดจดทะเบียน 11 เดือนของปี 2561 นั้น ทำได้ 1,480 คัน ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายยอดขายที่ได้ตั้งไว้ 1,500 คัน

ถือเป็นความเคลื่อนไหวในแวดวงสองล้อในปี 2562 ที่แม้จะไม่คึกคักเท่ากลุ่มรถยนต์ที่มีแผนลงทุนกันต่อเนื่อง แต่ในแง่ความสำคัญและความเนื้อหอม ก็ต้องบอกว่า "ยังมีอยู่" โดยปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ 1 ใน 5 ของโลก รองจากจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และไทย โดยข้อมูลในปี 2560 พบว่า มีโรงงานผลิตทั้งสิ้น 11 แห่ง และผลิตทั้งสิ้น 13 แบรนด์ มีกำลังการผลิตมากกว่า 3.56 ล้านคัน ได้แก่ ฮอนด้า, ยามาฮ่า, ซูซูกิ, คาวาซากิ, เอส วาย เอ็ม, ริวก้า, จีพีเอ็กซ์, เบเนลลี่, คีย์เวย์, ไทรอัมพ์, บีเอ็มดับเบิลยู, ดูคาติ และล่าสุด ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,432 วันที่  3 - 5 มกราคม พ.ศ. 2562

ติดตามฐาน