ปีหมูคลั่งพลังไฟฟ้า ... รถหรูประเดิม "อีวี-ปลั๊กอินไฮบริด"

03 ม.ค. 2562 | 07:53 น.
... ยุคใหม่ยานยนต์ไฟฟ้าไทย ถือโอกาสนับหนึ่ง ณ บัดนี้ หลังการเปิดตัวรถพลังไฟฟ้า (อีวี) หลายรุ่นในปีที่แล้วและจ่อทำตลาดเพิ่มเติมปีนี้ ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์-ชิ้นส่วนยังร่างเป็นแผนงานใหญ่ มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงอนาคต สอดคล้องกับการส่งเสริมของรัฐบาล

แม้ช่วงแรกในการทำตลาด "อีวี" ยังเป็นการนำเข้าทั้งคัน แต่ถือเป็นการจุดพลุส่งสัญญาณว่า เทคโนโลยีนี้มาแน่ และอาจจะมาเร็วกว่าที่หลายคนประเมินไว้

ปัจจุบัน ความแพร่หลายของรถยนต์ไฟฟ้า (มีระบบไฟฟ้ามาเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโดยตรงและทางอ้อม) ยังเป็นรถแบบไฮบริด แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นเพียงทางผ่าน ก่อนขยับไปเป็น "ปลั๊ก-อิน ไฮบริด" และ "อีวี" ในที่สุด

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ระดับเมเจอร์แบรนด์ อย่าง 'ฮุนได' ประเดิมส่ง "ไอออนิค" ลุยตลาด ราคา 1.749 ล้านบาท, 'เกีย' มี "โซล อีวี" 2.297 ล้านบาท และ "ลีฟ"  โดย นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย นำเข้ามาขายในราคา 1.99 ล้านบาท รถล็อตแรกพร้อมส่งมอบให้แก่ลูกค้าตั้งแต่เดือน เม.ย. นี้เป็นต้นไป

1240_2018120921283365

"ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีอะไรก็ตาม จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความต้องการของผู้บริโภค (Demand) รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เช่นกัน จากข้อมูลของนิสสันระบุว่า มีคนจำนวนมากถึง 40% มีความสนใจที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ค่ายรถยนต์ต้องเร่งให้ความรู้ เตรียมความพร้อมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต" นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ขณะที่ ค่ายใหญ่ 'โตโยต้า' เริ่มศึกษาถึงการผลิตรถประเภทนี้ในอนาคต ที่โรงงานบ้านโพธิ์และโรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และแพ็กเก็จการส่งเสริมการลงทุนของ "บีโอไอ" มูลค่าการลงทุนอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยยื่นแผนไปให้หน่วยงานรับผิดชอบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ส่วน 'เอ็มจี' แบรนด์อังกฤษ ทุนใหญ่จากจีน มาลงหลักปักฐานที่เมืองไทยได้หลายปี มีความชัดเจนในการลุยเทคโนโลยี "ปลั๊ก-อิน ไฮบริด" และ "อีวี" เช่นกัน ส่วน 'มิตซูบิชิ' มีแผนใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตและส่งออกเอสยูวีที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งจะได้เห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนภายในปีนี้

เหนืออื่นใด ค่ายรถยนต์ระดับหรูที่เน้นทำตลาดรถแบบ "ปลั๊ก-อิน ไฮบริด" มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์และบีเอ็มดับบิลยูนำเทคโนโลยีนี้มาประจำการอยู่ในรถยนต์รุ่นหลัก (เช่น ซี, อี, เอส-คลาส และซีรีส์ 3, 5, 7 เป็นต้น) และการประกอบแบตเตอรี่ในไทยยังได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเพิ่ม ขณะที่ 'ปอร์เช่' ที่บริษัทแม่จากเยอรมนีไม่ได้ลงมาลุยเต็มตัว ยังทำราคารถรุ่นปลั๊ก-อิน ไฮบริดได้ดี พร้อมขายเป็นกอบเป็นกำ ทั้งคาเยนน์และพาราเมรา

ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็ม ดับเบิลยู, ปอร์เช่ ตลอดจนอาวดี้ บิ๊กโฟร์จากเยอรมนี ยังมีแผนนำเข้าอีวีโมเดลใหม่มาทำตลาดในไทย โดยที่มีความชัดเจนแล้วและจะเห็นภายในปลายปีนี้ คือ "เมอร์เซเดส อีคิวซี" และ "อาวดี้ อีตรอน" เอสยูวีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า 100% โดยการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง รถสามารถวิ่งได้ระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร (ตามสเปกยุโรป)

1240_2018121011223344

"เรื่องรถพลังไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลของประเทศไหนสนับสนุนจริงจัง รถรุ่นนั้นมีโอกาสแจ้งเกิด ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์มีเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็ไม่อยากเสียความเป็นผู้นำ" โรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

"บริษัทดำเนินงานตามกลยุทธ์ "CASE" ที่มาจากรากฐานแนวคิดใหม่ 4 ประการ ได้แก่ Connected Autonomous Shared & Service และ Electric Drive ที่มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดดังกล่าวทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ไม่ปล่อยไอเสียเลย"

ทั้งนี้ ตามนโยบายของบริษัทแม่ เมอร์เซเดส-เบนซ์เตรียมเปิดตัวรถพลังไฟฟ้า (อีวี) 9 รุ่น ในระดับโลก ภายในปี 2022

ส่วน 'จากัวร์' ภายใต้การดูแลตลาดของ "อินช์เคป ประเทศไทย" พร้อมเปิดตัว "ไอ-เพซ" ช่วงเดือน มี.ค, นี้ หรือในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2019 ซึ่งก่อนหน้านี้ นำเข้าเรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต ปลั๊ก-อิน ไฮบริด มาขายในราคาเริ่มต้น 6.3 ล้านบาท

"เรามองว่า เทรนด์หรือทิศทางของรถยนต์ไฟฟ้าต้องมาอยู่แล้ว แต่จะมาเร็วมาช้าก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ ในส่วนอินช์เคปเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้อยู่ โดยรถที่ขายจะมีแท่นชาร์จไปให้ลูกค้าด้วย" นายชาญชัย มหันตคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการรถยนต์จากัวร์และแลนด์โรเวอร์ กล่าว

Jaguar-I-Pace-2019-1280-a3 Jaguar-I-Pace-2019-1600-90

สำหรับจากัวร์ ไอ-เพซ เป็นเอสยูวีพลังไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ 2 ตัว ตัวแรกส่งกำลังให้ล้อคู่หน้า อีกตัวส่งกำลังให้ล้อคู่หลัง สามารถผลิตกำลังสูงสุดได้ 400 แรงม้า แรงบิด 696 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 4.8 วินาที ตัวรถถูกออกแบบให้มีการกระจายนํ้าหนักหน้า-หลังสมดุลแบบ 50:50 ส่วนการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง รถวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 480 กิโลเมตร ราคาขายที่อังกฤษประมาณ 2.6 ล้านบาท

... ถือเป็นทิศทางของเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนยิ่งขึ้นในปี "หมูทอง 2562" ทั้งอีวีและปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งถูกขับเคลื่อนหลักด้วยกลุ่มรถยนต์แบรนด์หรูจากยุโรป และต้องจับตา "นิสสัน ลีฟ" อีวีรุ่นขายดีที่สุดของโลก ว่า จะประสบความสำเร็จในไทย ได้ทั้งเงินและกล่องตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่

หน้า 22  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,431 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - 2 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว