"อี-เพย์เมนต์" ขับเคลื่อนไทยสู่ 4.0 !! สะเทือนโครงสร้างรายได้แบงก์

01 ม.ค. 2562 | 06:00 น.
สำหรับประเด็นฮอตฮิตในวงการการเงิน สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ ในรอบปี 2561 เรื่องที่จะพูดถึงไม่ได้ คือ ความพยายามผลักดันและความคืบหน้าของโครงการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ "ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ" หรือ National e-Payment ของรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ผู้เป็นหัวหอกใหญ่ ร่วมกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) พยายามผลักดันอย่างเต็มกำลัง เรียกได้ว่า เดินกันมาเกินครึ่งทางแล้ว

หลังจากโครงการแรกเกิดขึ้น คือ บริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ หรือ พร้อมเพย์ ซึ่งเป็นก้าวแรกของ e-Payment โดยเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2560 โดยประชาชนสามารถโอนเงินได้ตามช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร คือ Mobile Banking, Internet Banking, ตู้เอทีเอ็ม ผ่านเลขที่บัตรประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ แทนเลขบัญชี 10 หลัก ซึ่งง่ายต่อการจดจำ ขณะเดียวกัน อัตราค่าธรรมเนียมยังถูก เริ่มต้นที่ 2 บาทต่อรายการ กรณีโอนเกิน 5,000 บาท และสามารถโอนข้ามธนาคารได้ไม่จำกัด ถูกกว่าการโอนเงินผ่านทางสาขาที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างน้อย 25-35 บาทต่อรายการ และต่อมาช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2561 ธนาคารพาณิชย์ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีโอนเงินบนช่องทางดิจิตอล

แม้ช่วงเริ่มต้นโครงการ "พร้อมเพย์" จะไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะคนยังกังวลถึงความปลอดภัย แต่ปัจจุบัน พบว่า ยอดปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 7 ธ.ค. 2561 มีปริมาณธุรกรรมกว่า 1,002.74 ล้านรายการ มูลค่าสะสม 5.1 ล้านล้านบาท และมียอดการลงทะเบียนพร้อมเพย์ ณ วันที่ 31 พ.ย. 2561 อยู่ที่ 46 ล้านหมายเลข เติบโต 6% ต่อเดือน แบ่งเป็น ลงทะเบียนผ่านเลขประจำตัวประชาชน 29.2 ล้านหมายเลข คิดเป็น 44% ของประชากรทั้งประเทศ และลงทะเบียนผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 16.6 ล้านเลขหมาย นิติบุคคล 7 หมื่นเลขหมาย และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID) ราว 1.5 แสนเลขหมาย


MP14-3431-A

สะท้อนถึงความสำเร็จอย่างถล่มทลาย สำหรับโครงการ "พร้อมเพย์" และต่อมาไม่นาน เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ e-Payment ไปสู่การขยายจุดรับชำระเงิน หรือ วางเครื่องรับบัตร (EDC) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เดินควบคู่กับการต่อยอดบริการพร้อมเพย์ไปสู่การชำระเงินผ่าน Thai QR Code Payment หรือ Standard QR Code ที่ใช้มาตรฐานเดียวกันทุกธนาคาร โดยจะเห็นว่า ทุกธนาคารหันมาโหมลงทุนและอัดแคมเปญการตลาด ทั้งในส่วนของผู้ใช้รายย่อยและร้านค้าที่รับชำระ วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ท่าเรือ และร้านค้าขนาดเล็ก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และจะเห็นบางธนาคารพยายามจับมือกับพันธมิตรการใช้ QR Code ชำระเงินในต่างประเทศ หรือ ต่อยอดการปล่อยกู้สินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending) โดยใช้ข้อมูลการชำระเงิน หรือ การทำรายการผ่านธุรกรรมการเงิน โดยนับตั้งแต่เปิดบริการ ปัจจุบัน ร้านค้าที่รับชำระ QR Code กว่า 3 ล้านร้านค้า มีจำนวนธุรกรรมสะสม 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 334 ล้านรายการ

และในอนาคตอันใกล้ คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 จะมีโครงการ National Digital ID หรือ NDID ที่จะทำให้การเปิดบัญชีเงินฝากกองทุนไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาธนาคารอีกต่อไป แต่สามารถเปิดบัญชีข้ามธนาคารผ่านเว็บไซต์ หรือ แอพพลิเคชัน โดยการยืนยันตัวตนผ่านทางชีวภาพ หรือ E-KYC ได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้ในท้ายที่สุด สาขาธนาคารต้องปรับรูปแบบการบริการไปสู่ที่ปรึกษาทางการเงิน


แอดฐานฯ

อย่างไรก็ดี ผลกระทบและความท้าทายที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์หลังจากกระแสดิจิตอลที่โหมเข้ามาอย่างจัง คือ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Fee) โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการโอนเงิน ซึ่งถือว่าเป็นก้อนใหญ่สุดในบรรดารายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด ซึ่งหลังประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิตอลทั้งหมด ประจวบกับ ธปท. ออกกฎเข้มงวดการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) เหมือนเคราะห์ซํ้ากรรมซัดเจอ 2 เด้ง รายได้หลักหาย รายได้เสริมจากการขายประกันกองทุนก็มาถูกบีบให้ทำได้ยากขึ้น โดยคาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมปี 2562 จะยังคงลดลง แต่จะมากขนาดไหนขึ้นกับการทำธุรกรรมของลูกค้าและการปรับตัวรับ Market Conduct

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขค่าธรรมเนียมไตรมาส 3 ปี 2561 หดตัวลง 4% คิดเป็นมูลค่า 4.74 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ที่มีมูลค่า 4.83 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายได้ค่านายหน้า 9,104 ล้านบาท หดตัวถึง 12.8% หรือ 1,300 ล้านบาท จากไตรมาส 2 ที่หดตัว 0.5% อยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินอยู่ที่ 5,713  ล้านบาท หดตัวลง 8.7% หรือ 541 ล้านบาท จากไตรมาส 2 หดตัว 11.2% คิดเป็นมูลค่าที่ 5.27 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งสูงถึง 314 ล้านรายการ เพิ่มขึ้น 40% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 225 ล้านรายการ

สำหรับภาครัฐ ภายใต้โครงการ e-Payment จะเป็นในส่วนของระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-Tax Invoice และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) และโครงการรับจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์และสวัสดิการภาครัฐ รวมถึงการจ่ายเงินให้กับประชาชนโดยตรงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเห็นว่า ภาครัฐได้เร่งดำเนินการควบคู่กันอย่างเต็มสรรพกำลัง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,431 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - 2 มกราคม พ.ศ. 2562

ติดตามฐาน