เจาะรายประเทศ ดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ปักฐานอีอีซี

04 ม.ค. 2562 | 03:55 น.
เมื่อปี 2561 จะเห็นการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ที่ภาครัฐโหมโรง เรื่องการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในโครงการขนาดใหญ่ 5 โครงการ คือโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา(MRO) และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

ภายในปี 2562 ความต่อเนื่องจากโครงการดังกล่าว จะคืบหน้าอย่างไร และจะมีเป้าหมายปลุกการลงทุนลงพื้นที่ในทิศทางไหน ต้องเตรียมพร้อมด้านใดบ้าง เพื่อรองรับการลงทุนมาหาคำตอบได้ที่ ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจเพื่อชาติคนหนึ่ง จากคำสัมภาษณ์ใน “ฐานเศรษฐกิจ”

[caption id="attachment_367598" align="aligncenter" width="335"] ลัษมณ อรรถาพิช ลัษมณ อรรถาพิช[/caption]

ลัษมณ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนต่างจับจ้องมาที่ 5 โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี ที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดย 5 โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ขายซองประมูลไปหมดแล้ว คาดว่าภายในไตรมาสแรกปี 2562 จะประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูล หลังจากนั้นพร้อมนำคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 เรื่องการประมูลจะแล้วเสร็จ พร้อมไปสู่การก่อสร้างจริง ในไตรมาส 2 เป็นต้นไป ก็จะเห็นเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ขับเคลื่อนก่อนเพื่อไปรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม 12 กลุ่มเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี รวม2กลุ่มใหม่ที่เพิ่มคือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น อาวุธ รถถัง รวมถึงการรับมือกับภัยธรรมชาติ ภัยจากไซเบอร์เฮลิคอปเตอร์ช่วยผู้ประสบภัยและอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากร

วางเป้าหมายปี 2562

สำหรับปี 2562 สกพอ. ต้องการดึงทุนจาก 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในเชิงรุกมากขึ้น และจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวดังกล่าวมากขึ้น สังเกตได้จากเมื่อปี 2560 ที่คำขอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซี คือฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรีเพิ่มขึ้นเกือบ 50% และเมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2561 ช่วงเดียวกันกับปี 2560 พบว่าคำขอรับการส่งเสริมลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นเกิน 100% นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 80% นักลงทุนสนใจลงทุนใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ

อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี2561 ต่อเนื่องถึงปี2562จะเริ่มเห็นการลงทุนจริงทยอยเกิดขึ้น และจะมองเห็นภาพการลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่บางรายเริ่มเกิดการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น ฐานการผลิต รถยนต์ที่ใช้นํ้ามันจะปรับไปสู่การผลิตรถยนต์อีวี จะเห็นภาพการพัฒนาการลงทุนทั้งในโรงงานเก่าที่มีอยู่ก่อนแล้วและโรงงานใหม่ที่เข้ามาลงทุนเพิ่ม เช่น มีการผลิตใช้หุ่นยนต์ หรือมีระบบอัตโนมัติมากขึ้น เป็นต้น

“โรงงานใหม่ที่เกิดขึ้นจะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นขนาดโรงงานจะไม่ใหญ่ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เราจะไม่เห็นภาพแบบเก่า ที่ว่าโรงงานจะต้องมีขนาดใหญ่ ดังนั้นมูลค่าเงินลงทุนต่อโครงการจะเล็กลง เพราะค่าที่ดินหายไป ใช้พื้นที่ไม่มาก แต่เป็นโรงงานที่ทันสมัยยิ่งขึ้น”

1812

ดึงทุนเข้าบ้านแบบเจาะกลุ่ม

รองเลขาธิการสายงานบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศ สกพอ.กล่าวอีกว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 สิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อเนื่องคือ 1.การออกไปดึงทุนนอกบ้านเข้ามาแบบเจาะจงประเภทอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมการบินอากาศยาน และโลจิสติกส์ ทำงานร่วมกับบีโอไอ เนื่องจากอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จะล้อไปตามความคืบหน้า ใน 5โครงกาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะรู้ผลผู้ชนะการประมูลในไตรมาสแรก ทั้งสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และท่าเรือทั้ง 2 แห่ง (แหลมฉบัง, มาบตาพุด) ฉะนั้นในกลุ่มอากาศยานก็ต้องออกไปดึงทุนเจาะจงที่ประเทศ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ จะพบว่าเทคโนโลยีที่สำคัญจะอยู่ที่เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน

2.การขับเคลื่อน PPP ดิจิตอลพาร์ก หรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล (Digital Park Thailandหรือ EECd)ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่จะออกไปชักจูงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิตอลเข้ามา โดยประเทศเป้าหมายคือการออกไปดึงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนด้านนี้

3.จะเกิดความคืบหน้าเรื่องสมาร์ทซิตี (smart city) หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิตอล ที่ชัดเจน โดยในดิจิตอลพาร์ก ก็จะมีสมาร์ทซิตี ในอู่ตะเภาก็มีสมาร์ท ซิตี หรือเกิดสมาร์ทซิตีในพื้นที่เอกชน เพราะสมาร์ทซิตีจะเกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติ AI ดิจิตอล ดังนั้นอะไรที่เกี่ยวพันกับสมาร์ท ซิตี เราก็จะไปดึงเข้ามา เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ระบบหุ่นยนต์ ระบบ AI โดยจะโฟกัสไปที่จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เป็นต้น

เร่งผลิตคนด้านเทคนิค

ลัษมณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สกพอ.จะต้องรุกหนักในปี 2562 มากขึ้นคือเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อมารองรับทั้งในภาคอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี โดยในปัจจุบันเรามีโครงการ “สัตหีบโมเดล” หลังจากที่ปี 2561 ลงไปทำงานใกล้ชิดกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ 12 แห่งในพื้นที่อีอีซีกับบริษัทเอกชน โดยการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน โดยในระหว่างเรียนมีชั่วโมงทำงานจริงในโรงงาน พอเรียนจบก็มีบริษัทเอกชนรองรับเข้าทำงานทันที

“ปัจจุบันเราผลิตคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมได้ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเร่งผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น มีการศึกษาว่าประเทศไทยจะต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญด้านเทค นิคมากกว่า 10,000 คนต่อปี”

และเมื่อพัฒนาหลักสูตรอาชีวะก็พบว่า เด็กที่เรียนจะต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมต้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ให้ความสำคัญโดยร่วมกันลงไปดูการเตรียมความพร้อม ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทย์และภาษาอังกฤษ แอดฐานฯ

จากความเคลื่อนไหวทั้งหมดจะเห็นว่าในปี 2562 มีความคืบหน้าทุกด้านจากที่ร่วมกันผลักดันมาด้วยกันตั้งแต่ความสำเร็จในการปักหมุดว่าโฟกัสไปยังพื้นที่ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่นำร่องอีอีซี การวางกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็น จนทุนทั่วโลกต่างหันมามองด้วยความสนใจ ทำให้ปี 2562 สกพอ.และหน่วยงานต่างๆจากภาครัฐ และที่เกี่ยวข้อง ต้องออกแรงโฟกัสไปยังประเทศเป้าหมายมากขึ้น ดึงทุนแบบเจาะจงตรงกลุ่มเข้ามาลงทุนในอีอีซี

สัมภาษณ์

โดย งามตา สืบเชื้อวงค์

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,432 วันที่ 3 - 5 มกราคม พ.ศ. 2562 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว