‘มาสด้า2-ซีวิค’โกยคะแนนนิยมผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่

29 ธ.ค. 2561 | 04:46 น.
เจ.ดี.พาวเวอร์ รายงานผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ประจำปี 2561 พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผลิตลดลง แต่ลูกค้าประสบปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบ หรือการใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ในรถยนต์มากขึ้น

เจ.ดี. พาวเวอร์ เปิดเผยว่า โตโยต้า,มาสด้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, เชฟโรเลต และฟอร์ด คว้ารางวัลคุณภาพรถยนต์ใหม่ในแต่ละกลุ่มประเภทรถยนต์ โดยในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กโตโยต้า ยาริส เอทีฟได้รับอันดับสูงสุดด้วยคะแนน 62, ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้นมาสด้า2 ได้รับอันดับสูงสุดด้วยคะแนน 53, ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางฮอนด้า ซีวิคได้รับอันดับสูงสุดด้วยคะแนน 54

ในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ตได้รับอันดับสูงสุด ด้วยคะแนน 63 ,ในกลุ่มรถกระบะตอนขยายเชฟโรเลต โคโลราโด เอ็กซ์-แคปได้รับอันดับสูงสุดด้วยคะแนน 68, ในกลุ่มรถกระบะ 4 ประตูฟอร์ด เรนเจอร์ ไฮ-ไรเดอร์ ดี-แคปและโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ดี-แคปได้รับอันดับสูงสุดด้วยคะแนนเท่ากัน 63

jd power

นายศิรส สาตราภัย ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รางวัลดังกล่าวเป็นผลมาจากการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2561 โดยได้ประเมินคำตอบของเจ้าของรถยนต์คันใหม่ 5,106 รายที่ซื้อรถยนต์ในช่วงเดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถปิคอัพและรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน74รุ่น จากทั้งหมด13 ยี่ห้อ และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนมีนาคม-พฤศจิกายน2561

โดยการศึกษาในครั้งนี้มีหัวข้อเกี่ยวกับ2กลุ่มปัญหาหลักที่เจ้าของรถยนต์ใหม่ประสบในช่วง2-6เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ ได้แก่ กลุ่มปัญหาด้านการออกแบบ และกลุ่มปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดในการผลิต ซึ่งได้เจาะถามถึงปัญหาต่างๆ ครอบคลุมทั้งหมด 8 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. ปัญหาภายนอกรถยนต์ 2. ปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่ 3. ปัญหาจากอุปกรณ์,ปุ่มควบคุม และจอแสดงผล 4. ปัญหาเครื่องเสียง, ระบบสื่อสาร, ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง 5. ปัญหาจากเบาะที่นั่ง 6. ปัญหาจากระบบทำความร้อน,ระบบระบายอากาศ,ระบบความเย็น 7. ปัญหาภายในห้องโดยสาร และ 8. ปัญหาเครื่องยนต์/ระบบเกียร์

สำหรับผลการศึกษาพบว่าจำนวนปัญหาที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์  100 คัน ลดลงมาที่70 ซึ่งแต่เดิมในปี 2560 นั้นอยู่ที่ 83 และพบว่าคุณภาพรถยนต์ใหม่ถูกปรับปรุงขึ้นอย่างมาก ส่วนภายนอกตัวรถและด้านเครื่องยนต์ และระบบเกียร์ พบว่าปัญหาคุณภาพที่เกิดจากความผิดพลาดในการผลิตลดน้อยลงมาอยู่ที่ 44%จากปัญหาที่ถูกรายงานทั้งหมด ในปี 2561 เทียบกับ 61% ในปีก่อน

แอดฐานฯ

โดยปัญหาทั้งหมดได้ถูกนำมาสรุปผลเป็นจำนวนปัญหาที่พบต่อรถยนต์ใหม่ 100 คัน ซึ่งรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนนPP 100 ตํ่ากว่า แสดงว่ารถยนต์รุ่นนั้นเกิดปัญหาน้อยกว่าหรืออีกนัยหนึ่งคือ รถรุ่นนั้นมีคุณภาพที่สูงกว่า

ผลการศึกษายังพบอีกว่า 51% ของปัญหาทั้งหมดที่เจ้าของรถยนต์ใหม่ประสบเป็นปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับความยากในการใช้งาน ได้แก่ คลื่นวิทยุไม่ชัด หรือไม่มีคลื่น,ที่วางแก้วใช้งานยาก,แอร์ไม่เย็น หรือไม่สามารถคงระดับอุณหภูมิที่ต้องการได้ และเบรกมีเสียงดัง

นาย ศิรส กล่าวเพิ่มเติมว่า ระดับปัญหาคุณภาพที่เกิดจากการผลิตลดตํ่าลง รวมถึงคุณภาพในการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์มีความแตกต่างกันน้อยลง เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง และแม้คุณภาพในการผลิตจะเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ก็ยังตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุงคุณภาพในการออกแบบ โดยเฉพาะการออกแบบปุ่มควบคุมและอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ ที่มีความลํ้าสมัย ให้สามารถเข้าใจและใช้งานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนั้นแล้วพนักงานของผู้จำหน่ายก็มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการอธิบายและสาธิตการใช้งานอย่างละเอียดและครบถ้วนในระหว่างส่งมอบรถยนต์

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,431 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - 2 มกราคม พ.ศ. 2562

ติดตามฐาน