"เทคโนโลยี" ไม่ทำลาย แต่ ... สร้างโอกาส-ประโยชน์ธุรกิจ

04 ม.ค. 2562 | 03:43 น.
... วันนี้ทุกภาคส่วนธุรกิจล้วนต้องปรับตัวรับคลื่นเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งทั้งแรงและเร็ว ไม่เว้น "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" จากเดิมที่มองเทคโนโลยีเป็นเพียงลูกเล่นเสริมภาพลักษณ์บ้านและคอนโดมิเนียมที่ทันสมัย ดึงดูดความสนใจลูกค้า และมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่บริษัท แต่จากนี้ไป ... นักพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกรายคงต้องหันมาใส่เทคโนโลยีดิจิตอลลงในสินค้าของตนเองอย่างจริงจัง เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกค้ายุคมิลเลนเนียล

ความตื่นตัวเห็นชัดในปี 2561 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้นำอสังหาริมทรัพย์ไทยแถวหน้าและกลุ่มผู้ใช้งาน BIM (Building Information Modeling) ซึ่งมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนบริษัทออกแบบ รวมตัวจัดตั้งกลุ่ม Open Source BIM โชว์ศักยภาพ ยกระดับอสังหาริมทรัพย์ไทยสู่ระดับสากล รวมตัวกันเพื่อปรึกษาหารือ ศึกษาแนวทางและมาตรฐานการทำงานบนระบบ BIM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำซอฟต์แวร์เพื่อช่วยในการออกแบบ (Smart Design Software) ที่รวบรวมข้อมูลการออกแบบก่อสร้างทั้งหมดมาอยู่ในรูปแบบภาพจำลอง 3 มิติ (3D Digital Model) ช่วยเพิ่มความถูกต้อง-แม่นยำให้ทุกกระบวนการมากยิ่งขึ้น


● บิ๊กเนมลุยเทคโนโลยี

ในปี 2561 บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ชั้นนำ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดาหน้าลุยลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยมี บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นรายแรกที่ประกาศตัวนำเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) มาประยุกต์เข้ากับระบบสร้างแบบจำลองเสมือนของอาคาร หรือ BIM มาช่วยสร้างโมเดลจำลองดิจิตอลในขั้นตอนวางแผนพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยระบุว่า VR BIM Models จะช่วยปรับปรุงกระบวนการพัฒนาทั้งหมดของโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการดำเนินการ ผ่านบริษัทลูก อนันดา เออร์เบินเทค กำหนดแผนกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม ตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคในตลาดที่ดินอสังหาริมทรัพย์


MP21-3432-A

ขณะที่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ตลอดปี 2561 เห็นการเดินหน้านำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยมากมาย โดยเฉพาะในโครงการคอนโดมิเนียมระดับบน ดำเนินการผ่าน "สิริ เวนเจอร์ส" บริษัทร่วมทุนในการทำวิจัยและลงทุนด้านเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ หรือ Prop Tech โดยล่าสุด กำลังพัฒนาระบบสั่งการอุปกรณ์ภายในบ้านหรือห้องพักด้วยเสียงภาษาไทย ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เต็มรูปแบบ และอีกหลากหลายฟีเจอร์ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์การอยู่อาศัยยุคใหม่ในรูปแบบสมาร์ทโฮม

นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ระบบสั่งการด้วยเสียงเริ่มเป็นที่นิยมในไทย เราเห็นเทรนด์ผู้คนใช้งานมากขึ้น ในฝั่งผู้ผลิตเองก็มีการพัฒนาทั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีรองรับออกวางจำหน่าย ทั้งนี้ เชื่อว่าอีกไม่นานการใช้เสียงพูดคุยกับ AI รวมไปถึงการสั่งงานต่าง ๆ ภายในบ้านจะกลายมาเป็น Life Style ของคนในยุคปัจจุบัน AI จะไม่ใช่เรื่องที่เห็นแค่ในภาพยนตร์อีกต่อไป"


proptech1

แต่สำหรับ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ กล่าวว่า "เอพีไม่ได้เน้นขายเทคโนโลยี แต่จะนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยให้ดีขึ้น เช่น เสริม "ตู้ดิจิตอล พอต" ในโครงการคอนโดมิเนียม แก้ปัญหาพัสดุล้นห้องนิติบุคคล เนื่องจากลูกบ้านลืม ปรากฏว่า หลังจากทำแล้ว ลูกค้าชื่นชอบมาก"

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับโครงสร้างจัดตั้งทีมดูแลเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอล ดิสรัปชัน ซึ่งต่อไปจะลงลึกมากขึ้น โดยกระบวนการจะศึกษาความต้องการของผู้บริโภค แล้วนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพราะนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของผลประกอบการในปี 2561 ที่ผ่านมา

ขณะทุนใหญ่จาก "ฮ่องกง ไรส์แลนด์ ประเทศไทย" นำเทคโนโลยีลํ้าสมัย ภายในโครงการมิกซ์ยูส "อาติซานรัชดาฯ คอนโดมิเนียม" เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย เช่น สแกนป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติด้วย ระบบจดจำอัจฉริยะ ระบบเปิดประตูล็อบบี้ผ่านทางแอพพลิเคชัน ระบบสแกนลายนิ้วมือเพื่อเข้าห้องพัก ไม่ต่างจากโรงแรมหรู เชื่อว่าหลายโครงการในเมืองไทยยังไม่นำระบบนี้มาใช้ เพียงผู้พักอาศัยดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน "phoenix system" ก็สามารถเรียกใช้บริการต่าง ๆ ภายในโครงการได้ อาทิ การเรียกซ่อมบำรุง บริการส่งอาหาร ทำความสะอาด เรียกแท็กซี่ เป็นต้น รวมทั้งสามารถตรวจเช็กผู้มาเยี่ยมเยือน โดยสามารถดูผ่านทางแอพพลิเคชัน เช่น เมื่อมีเพื่อนหรือญาติคนสนิทมาหา


● ไม่ทำลายแต่สร้างโอกาส

ในขณะที่ นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Digital Disruption หรือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิตอลและรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่นั้น แม้ได้สร้างผลกระทบในภาคการเงิน ธนาคารหลายแห่งของไทยลดสาขาและเลิกจ้างพนักงานเคาน์เตอร์จำนวนมาก แต่ในแง่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น กลับมองเป็นโอกาสและประโยชน์สำหรับการดำเนินธุรกิจ ผ่านการปรับตัวขององค์กรให้ก้าวทันความก้าวหน้าของนวัตกรรมต่าง ๆ พร้อมมองว่า ในอนาคตการพัฒนาโครงการในพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างในอดีตคงมีความจำเป็นน้อยลง ขณะเดียวกันโครงการในพื้นที่ขนาดเล็กจะได้รับความนิยมมากขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจคอมเมอร์เชียล ไม่ต่างจากธุรกิจร้านอาหาร ที่ปัจจุบันมีการใช้พื้นที่น้อยลงและไปลงทุนในด้านดีลิเวอรีมากขึ้น


proptech3

ธุรกิจที่อยู่อาศัยก็เช่นเดียวกัน ในอนาคตไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโชว์รูมห้องชุดขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการขาย เพราะปัจจุบันสามารถเยี่ยมชมโครงการผ่านเทคโนโลยี 3 มิติที่ใดก็ได้ในโลก ส่วนในภาคกำลังคนที่อาจต้องพึ่งพาคนหน้างานลดน้อยลงนั้น คงไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะคงเป็นไปในลักษณะปรับเปลี่ยนไปเพิ่มในส่วนงานใหม่ เพื่อตอบสนองงานที่ต้องใช้ทักษะในด้านออนไลน์มากขึ้นนั่นเอง

"ยกตัวอย่าง คอนโดฯ หรือ บ้าน เราสามารถทำบ้านตัวอย่างผ่านโทรศัพท์ได้เลย ไม่จำเป็นต้องสร้างจริง เว้นแต่ลูกค้าอยากสัมผัสบรรยากาศโครงการจริง ๆ ซึ่งสามารถลดต้นทุนไปได้มาก เพราะ "เซล ออฟฟิศ" ใช้เงิน 50-60 ล้านบาท แต่ 2-3 เดือน ต้องทุบทิ้ง ก็สูญเปล่า แม้แต่กระดาษโบรชัวร์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อีกต่อไป ลดต้นทุนได้อีกเทคโนโลยีล้วนเป็นประโยชน์"

โดยล่าสุด หลังจากบริษัทประกาศเดินหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าในรูปแบบมิกซ์ยูส ผสมผสานที่อยู่อาศัย ออฟฟิศบิลดิ้ง ค้าปลีก โรงแรมเข้าด้วยกัน ในหลายโครงการได้นำแนวคิดเกี่ยวกับสมาร์ทเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ด้วย เพื่อเสริมบริการและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ลูกค้า เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชัน "เอส ไลฟ์" สำหรับผู้ใช้อาคาร "สิงห์ คอมเพล็กซ์" การเข้าออกประตูที่กั้นลิฟต์ การจ่ายเงินในศูนย์อาหารด้วยระบบคิวอาร์โค้ด และบริการซูเปอร์ไว-ไฟ ความเร็วสูงถึง 1 กิกะไบต์/วินาที เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,432 วันที่ 3-5 มกราคม 2562

595959859