โละสวนยางรุกป่า 10 ล้านไร่ ดันมาตรฐาน FSC เพิ่มขีดแข่งขันส่งออกไปอียู

01 ม.ค. 2562 | 07:00 น.
สนช. ชงโละสวนยางกว่า 10 ล้านไร่ พื้นที่บุกรุก-ไม่เหมาะสม จูงใจจ่ายเงินเยียวยา ส่งเสริมปลูกพืชอื่นแทน เร่งดันสวนยางเข้ามาตรฐาน FSC เพิ่มขีดแข่งขันส่งออกไปอียู ชูจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยางพาราแห่งชาติเป็นวาระแห่งชาติแก้ปัญหาทั้งระบบ

IMG20181212164810

นายพรศักดิ์ เจียรณัย ประธานคณะอนุกรรมา ธิการพิจารณาศึกษาผลผลิตทางการเกษตร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงรายงานการศึกษายางพาราทั้งระบบว่า ทางคณะมีความเห็นว่าระบบยางพาราของไทย ในปัจจุบันอยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยรอบด้าน เฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อราคายางพาราในตลาดโลก โดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ และด้วยปัญหายางพารามีความซับซ้อนและเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตลอดห่วงโซ่อุปทานสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ระบบยางพาราไทย ซึ่งแนวโน้มราคายางพาราปรับตัวลดลง

ขณะที่ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในวงกว้าง รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องมีนโยบายเชิงรุกและมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งระบบให้มีความเข้มแข็ง รับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างระยะยาว สวน

สำหรับการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการยางพาราแห่งชาติ” ถือเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่บริหารงานยางพาราทั้งระบบ โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานแกนกลางในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งการทำงานของศูนย์มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการด้านยางพารา ตอบสนองการทำงานของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) การทำงานของศูนย์ จะเป็นรูปแบบบูรณาการทำงาน ที่มีคณะทำงานร่วมที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงานได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างประเทศ อุตสาหกรรม และพาณิชย์ เป็นต้น

“ศูนย์ปฏิบัติการยางพาราแห่งชาติ จะต้องเป็น One Stop Service แก้ไขปัญหายางพาราในทุกเรื่อง ทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง อาทิ การขออนุญาตก่อสร้าง การจัดตั้งโรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษด้านผังเมือง การทับซ้อนพื้นที่ป่า และอื่นๆ ควบคู่กับพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายยาง การจดทะเบียน และส่วนที่กฎหมายกำหนด เข้าสู่ระบบ Rubber Info ทำให้การควบคุมดูแลยางพาราของประเทศทำได้ดียิ่งขึ้น”

ปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง ขาดการควบคุมและบริหารจัดการพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิต ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางบางส่วนไปบุกรุกทับซ้อนในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์กว่า 10 ล้านไร่ (กราฟิกประกอบ) ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาผลผลิตยางพาราของไทยเพิ่มขึ้น และสุ่มเสี่ยงจะถูกกีดกันการค้า TP8-3432-A

ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งรัดบังคับใช้กฎหมายในสวนยางพาราที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน โดยควรดำเนินมาตรการแรงจูงใจในการโค่นยางด้วยการจ่ายเงินทดแทนแก่เกษตรกร มาตรการช่วยเหลือปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชชนิดอื่น และมาตรการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน FSC/PEFC (เป็นมาตรฐานของสภาควบคุมดูแลป่าไม้ ที่กำหนดให้สวนยางต้องปลูกในพื้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสหภาพยุโรป(อียู)ประกาศปี 2563 จะไม่รับซื้อยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน) เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกไปอียู รวมถึงจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง

นอกจากนี้ควรเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศด้วยการกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศเป็น 30% ภายในปี 2565 เน้นมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อาทิ ยางล้อยานพาหนะ ถุงมือยาง เป็นต้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และนิคมอุตสาหกรรมยางด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี สินเชื่อ และอื่นๆ เพื่อลดอิทธิพลของตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,432 วันที่ 3-5 มกราคม 2562 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว