‘บางจาก’ ร่วมนำทีมองค์กรไทย สร้างมาตรฐานยั่งยืนผ่านเครือข่าย GCNT

30 ธ.ค. 2561 | 03:15 น.
การเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์ชัดเจน ด้านธุรกิจสีเขียวของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้บางจากได้เป็น 1 ใน 15 องค์กรเอกชนของไทยที่เป็นสมาชิก UN Global Compact และร่วมเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (Global Compact Network Thailand - GCNT)

AE2I0075-edit

“เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวางแผนยุทธศาสตร์และพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า บางจากมีแนวทางชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ 3S ซึ่งประกอบด้วย Security การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน Stability พัฒนาธุรกิจให้เติบโต และมีการกระจายความเสี่ยงสู่ธุรกิจที่รายได้มั่นคง และ Sustainability พัฒนา
ธุรกิจ และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดย S ที่ 3 เป็นส่วนที่บางจากให้ความสำคัญมาก ล่าสุดยังได้แยกย่อยออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ภายใต้กลยุทธ์ 4G เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแต่ละมิติการทำงาน ได้แก่

มิติที่ 1 คือ Green Business เป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่บางจากพัฒนาขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับโปรดักต์
พื้นฐาน เช่น การทำเรื่องแบตเตอรี่พลังงาน หรือ Bioeconomy อาทิ การผลิตทรัพยากรหมุนเวียนชีวภาพ
(renewable biological resource) ที่สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ชีวภาค และพลังงานชีวภาค ผ่านเทคโนโลยีนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพจากอุตสาหกรรม มิติที่ 2 คือ Green Process ทุกขั้นตอนการผลิตสามารถพัฒนาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้พลังงาน การรีไซเคิล หรือการนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ ซึ่งบางจากมองไปที่ Carbon Neutral กิจกรรมชดเชยคาร์บอน ลดการใช้พลังงาน
ลดการปล่อยของเสีย และการนำกลับมาใช้ใหม่ ทุกธุรกิจของบางจากต้องเป็น Green Process ทั้งหมด

มิติที่ 3 Green Experience เป็นการต่อยอดสินค้าชุมชน พัฒนาด้วยนวัตกรรม แล้วส่งเสริมต่อด้วยการตลาด เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Green Experience ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน  และมิติที่ 4 Green Society บางจากถือเป็นองค์กรเป็นผู้นำด้านการทำ CSR in Process เช่น การทำปั๊มชุมชน ที่เกิดจากการพัฒนาปั๊มสหกรณ์ให้เป็นปั๊มที่ได้มาตรฐาน มีศักยภาพ จนปัจจุบันมีปั๊มชุมชนแล้วกว่า 500 ปั๊ม

S__14745623

จากแนวทางปฏิบัติทั้งหมดนี้ ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ UN Global Compact และสมาคม GCNT ซึ่งบางจากเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ เพื่อเชิญชวนให้องค์กรธุรกิจของไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรฐานการทำธุรกิจที่สอดรับกับประชาคมโลก ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน การเคารพสิทธิแรงงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการ ต่อต้านการทุจริต รวมไปถึงการสนับสนุนให้สมาชิกเดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ (SDGs) ของสหประชาชาติ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

หลังจากการเปิดตัวสมาคม GCNT ไปแล้ว ขณะนี้คณะกรรมการสมาคม กำลังกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ซึ่งมุ่งเน้นการผลักดันให้องค์กรไทย ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านกฎบัตรทั้งหมดของทั้ง UN Global Compact และ SDGs ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และให้ความสำคัญในการร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ และหากองค์กรใดที่ได้รับการอนุมัติเข้าเป็นสมาชิก GCNT ก็ถือเป็นการเพิ่มมาตรฐานขององค์กรในระดับโลก รวมทั้งยังมีโอกาสได้แบ่งปันความรู้กับสมาชิกในประเทศต่างๆ ซึ่งมีอยู่กว่า 1.3 หมื่นองค์กรใน 160 ประเทศทั่วโลก

“เกียรติชาย” ทิ้งท้ายว่า การที่จะสร้างสังคมและประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ตัวองค์กรและคนในองค์กรต้องปฏิบัติก่อน โดยผู้นำองค์กร และพนักงานภายในองค์กร ต้องเป็นและ ปฏิบัติ นั่นคือ คีย์สำคัญของการก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับ

หน้า 20 ฉบับที่ 3,432 วันที่ 3 - 5 มกราคม พ.ศ. 2562

ติดตามฐาน