Smart & Fast ตอบโจทย์ "ท่องเที่ยวยุคดิจิตอล"

03 ม.ค. 2562 | 07:41 น.
| รายงานพิเศษ : Smart & Fast ตอบโจทย์ "ท่องเที่ยวยุคดิจิตอล"

| โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

……………….


ใน "โลกยุคดิจิตอล" การนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนธุรกิจไม่เพียงสร้างความรวดเร็วในการให้บริการและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินเดินทางได้โดยเร็ว เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่การใช้ 'ไอโอที' ยังถูกนำมาใช้ช่วยลดอุปสรรคในการเดินทางและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จากดีมานด์การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับซัพพลายที่ขยายตามไม่ทัน

วันนี้เราจะเห็นว่า ในสนามบินต่าง ๆ ที่มีผู้โดยสารคับคั่ง ต่างให้ผู้โดยสารเช็กอินตั๋วโดยสารด้วยตัวเอง ผ่านจุดเช็กอินอัตโนมัติที่เรียงกันเป็นแนวยาวแทน รวมไปถึงการโหลดกระเป๋าเข้าระบบด้วยตัวเอง การสแกนบอร์ดิ้งพาสเอง ณ ประตูขึ้นเครื่องบิน เพิ่มเติมจากการเช็กอินผ่านเว็บไซต์ของสายการบินและโมบายแอพที่ทำกันมานานแล้ว ไปจนถึงการตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบอัตโนมัติ

บริการเหล่านี้สนามบินชั้นนำในต่างประเทศก็ใช้กันมาพักใหญ่แล้ว และในปีนี้เราจะได้เห็นเซอร์วิสแบบนี้ในสนามบินหลักของไทย ภายใต้โครงการ "ดิจิตอล แพลตฟอร์ม" ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่กำลังอยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งต่อไปผู้โดยสารสามารถใช้แอพพลิเคชันในการตรวจสอบข้อมูลการบิน การเช็กอิน หรือแม้กระทั่งรู้ตำแหน่งที่ว่างเพื่อจอดรถในสนามบินก่อนเดินทาง

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่นักท่องเที่ยวต้องการมากที่สุด คือ โมบายแอพที่มีเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เทคโนโลยีที่ผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือน ที่จะฉายภาพบริการให้เห็นได้เหมือนได้เดินทางไปสัมผัสของจริง ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าการท่องเที่ยวและเพิ่มคุณค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยว อย่าง พิพิธภัณฑ์ อุทยานแห่งชาติ ร้านอาหาร งานแสดงสินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยว


MP16-3432-B

ในแง่ของ "ธุรกิจท่องเที่ยว" ก็จะเห็นการปรับตัวมาใช้โซเชียลมีเดียและดิจิตอลแพลตฟอร์มในการสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งเพียงการขายห้องพักหรือบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ "ทราเวล เอเยนต์" ข้ามชาติ (OTA) หรือช่องทางออนไลน์ของตัวเองเท่านั้น ในปีนี้จะเห็นการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่จะเข้ามารวมตัวกันอยู่ในโครงการ "ไทยแลนด์ ทัวริซึม แพลตฟอร์ม" ซึ่งผลักดันโดยรัฐและเอกชน เพื่อเสนอขายการท่องเที่ยวผ่านดิจิตอล ซึ่งจะเอื้อประโยชน์อย่างมากให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีท่องเที่ยว

การออกแบบโรงแรมใหม่ก็จะถูกออกแบบมาเพื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีความทันสมัย ซึ่งให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ความยืดหยุ่น การเชื่อมต่อกับโลกดิจิตอลอย่างไม่สะดุด และความคุ้มค่า ดังนั้น พื้นที่ที่เคยเป็นเคาน์เตอร์ให้บริการต้อนรับลูกค้าแบบเดิม ๆ จึงถูกเปลี่ยนให้เป็นตู้อัตโนมัติสำหรับให้บริการตนเอง พื้นที่ส่วนล็อบบี้และร้านอาหารถูกแปลงโฉมให้เป็น "โซเชียล ฮับ" เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง มีมุมคาเฟ่ที่ลูกค้าสามารถนำเอาแต้มเครดิตที่ได้รับประจำวันมาแลกใช้ได้ ขณะที่ ภายในห้องพักก็จะมีสมาร์ททีวีและระบบปฏิบัติการที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้โดยตรง

ขณะที่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ก็จะมีบทบาทมากขึ้นในการวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ AI มาตรวจจับข้อมูลและประมวลผลการให้คะแนน (เรตติ้ง) ของนักท่องเที่ยวที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ ของไทย ซึ่งจะได้ข้อมูล "สมาร์ท ดาต้า" นำมาใช้สร้างรากฐานการบริหารจัดการฐานข้อมูลอัจฉริยะเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ได้บิ๊กดาต้าที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3432 ระหว่างวันที่ 3 - 5 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว